การเวนคืนกรมธรรม์ ทางเลือกของผู้ที่ต้องการเงินก้อน

ปัญหาทางการเงินนั้นเกิดได้กับทุกคน สำหรับผู้ที่มี ประกันสุขภาพ ในรูปแบบต่าง ๆ “การเวนคืนกรมธรรม์” นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางออก ที่ช่วยให้สามารถนำเงินก้อนจากการจ่ายเบี้ยประกัน นำมาใช้จ่ายในช่วงที่สภาวะทางการเงินนั้นขาดมือ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติเหล่านั้นไปได้ แต่การเวนคืนนั้นก็เท่ากับว่าจะต้องยกเลิกกรมธรรม์ ดังนั้นก่อนตัดสินใจอะไรลงไป เราอยากให้คุณอ่านบทความนี้จนจบเสียก่อน เรามาพร้อมเรื่องราวเกี่ยวกับการเวนคืนเบี้ยประกัน พร้อมแนะนำทางออกที่ดีที่สุดให้กับคุณ หากพร้อมแล้วไปชมกันเลย!

การเวนคืนกรมธรรม์คืออะไร ?

ยกเลิกประกันสุขภาพ

การเวนคืนกรมธรรม์ คือ การขอยกเลิกสัญญากรมธรรม์ที่ได้ทำเอาไว้กับบริษัทประกันภัยต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับเงินสดจากการจ่ายเบี้ยประกันไปแล้วกลับคืนมา โดยจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปตามสัญญาของกรมธรรม์เล่มนั้น ๆ เงื่อนไขเบื้องต้นของการขอเวนคืนก็คือ จะต้องมีมูลค่าเงินเวนคืนในกรมธรรม์เสียก่อน ซึ่งนั่นมักเกิดกับการถือกรมธรรม์ในช่วงปีที่ 2 หรือ 3 เป็นต้นไป

ในส่วนของจำนวนเงินที่จะได้รับจากการยกเลิกกรมธรรม์ ก็จะแตกต่างกันออกไป ประเมินได้จากมูลค่าของกรมธรรม์ ระยะเวลาการจ่ายเบี้ยกรมธรรม์ ไปจนถึงอัตราการจ่ายคืนของกรมธรรม์ที่แตกต่างกันออกไปตามบริษัทที่เลือกซื้อ หลังจากได้รับเงินจำนวนนั้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สัญญาการคุ้มครองต่าง ๆ จะสิ้นสุดลงในทันที ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการคุ้มครองหลัก หรือสัญญาแนบท้ายต่าง ๆ ก็ตาม

การเวนคืนกรมธรรม์มีข้อดีอย่างไรบ้าง ?

–  ได้รับเงินก้อน แน่นอนว่าข้อดีที่เด่นชัดของการเวนคืนกรมธรรม์ คือการได้รับเงินก้อนเพื่อนำมาใช้จ่ายในช่วงเวลาที่ต้องการเงินด่วน โดยเงินเวนคืนนั้นเจ้าของกรมธรรม์จะได้รับภายในระยะเวลา 3-15 วันทำการ

–  เปลี่ยนไปเป็นกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า ปัญหาของคนไทยที่ถือประกันสุขภาพคือ “ซื้อจากการโดนแนะนำ” ทำให้ได้กรมธรรม์ที่อาจไม่ได้ตอบโจทย์ต่อการใช้งานสักเท่าไหร่ การคุ้มครองเองก็อาจไม่ได้ครอบคลุมอย่างที่ต้องการ ดังนั้นเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสม การเวนคืนกรมธรรม์เดิม ก็ช่วยให้สามารถเริ่มต้นใหม่กับกรมธรรม์ที่ถูกใจได้มากขึ้นนั่นเอง

 ช่วยลดรายจ่ายลงได้ หากคุณเริ่มรู้สึกว่าการจ่ายเบี้ยประกันรายปี เป็นภาระที่หนักหนาจนเกินไป การเวนคืนก็ช่วยให้คุณแบ่งเบาภาระในส่วนนั้นลงได้ นอกจากยกเลิกค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปแล้ว ยังได้รับเงินก้อนกลับมาอีกด้วย ถึงแม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่หากอยู่ในสภาวะที่มีปัญหาทางการเงิน ถือว่าเป็นทางออกที่เข้าท่าเลยทีเดียว

การเวนคืนกรมธรรม์มีข้อเสียอย่างไรบ้าง ?

 สิทธิพิเศษทั้งหมดจะถูกยกเลิกทันที เมื่อขั้นตอนการเวนคืนเงินกรมธรรม์สิ้นสุดเมื่อไหร่ ทุกสิทธิประโยชน์ของกรมธรรม์นั้น ๆ จะสิ้นสุดในทันที ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการรักษา เงินชดเชยการพักรักษา ไปจนถึงเงินชดเชยการเสียชีวิตและทุพพลภาพ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันในช่วงเวลานี้ คุณจะไม่ได้รับการชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

 อาจต้องเสียค่าเบี้ยประกันแพงขึ้น หลังจากตัดสินใจเวนคืนกรมธรรม์เรียบร้อยแล้ว หากต้องการทำประกันเล่มใหม่ คุณอาจต้องเจอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น สุขภาพที่อาจไม่แข็งแรงดังเดิม ไปจนถึงอาจตรวจพบโรคร้ายบางอย่างที่คุณไม่รู้ ซึ่งนั่นอาจทำให้การประเมินกรมธรรม์นั้นยุ่งยากกว่าที่คุณคิดเอาไว้ก็เป็นได้

 ไม่ได้รับเงินที่ชำระเบี้ยประกันไปเต็มจำนวน มีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการเวนคืนเบี้ยประกันมากมาย หลายคนคิดว่า “ จ่ายไปเท่าไหร่ = เวนคืนได้เท่านั้น ” ที่จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น ในทุกกรมธรรม์จะมีอัตราการจ่ายระบุเอาไว้อย่างชัดเจน โดยจะเปรียบเทียบกับเงินเอาประกัน 1,000 บาท เช่น มูลค่าเวนคืนของกรมธรรม์ของคุณคือ 73 บาท หากมีจำนวนเงินเอาประกันอยู่ที่ 1,000,000 บาท คุณจะได้เงินอยู่ที่ 73,000 บาท ( ไม่รวมค่าธรรมเนียมที่อาจเสีย )

การตัดสินใจเวนคืนเงินประกันมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด

ยกเลิกประกันสุขภาพตอนไหนดี

การยกเลิกกรมธรรม์ของแต่ละคนนั้น มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไป หากจะให้ชี้ชัดว่า “ คุ้มค่าหรือไม่ ? ” คงเป็นเรื่องที่เจาะจงได้ยากพอสมควร เนื่องจากสำหรับบางคนการเวนคืนกรมธรรม์ไม่ได้เกิดจากปัญหาทางการเงิน ดังนั้นเราจึงขอแยกออกเป็น 2 กรณีเพื่อให้การอธิบายนั้นเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น

 กรณีที่ 1 “หากต้องการใช้เงิน” ในกรณีนี้หากคุณถือกรมธรรม์มาแล้วหลายปี อย่างน้อย ๆ 3 ปีเป็นต้นไป โอกาสที่คุณจะได้เงินเวนคืนสูงกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายนั้นมีสูงมาก หากเงินคือสิ่งที่คุณต้องการ ต้องยอมรับว่าคุ้มค่าอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝันให้ได้

–  กรณีที่ 2 “ไม่ได้ต้องการใช้เงิน” ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่าเป็นอย่างมาก เนื่องจากกรมธรรม์ที่ไม่ได้ตอบโจทย์ของผู้ใช้งาน ยิ่งถือเป็นระยะเวลานาน ๆ การคุ้มครองที่ไม่ได้ครอบคลุม ไปจนถึงสิทธิพิเศษที่ไม่ตรงต่อความต้องการ อาจทำให้คุณเสียเงินไปเปล่า ๆ ได้ การยกเลิกกรมธรรม์เล่มนี้ เพื่อเริ่มต้นกรมธรรม์เล่มใหม่ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าเป็นอย่างยิ่ง

ทางเลือกอื่นนอกจากการเวนคืนกรมธรรม์

หากตอนนี้คุณกำลังประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ไปจนถึงการต้องการเงินมาหมุนเวียนในระบบ การเวนคืนกรมธรรม์อาจไม่ใช่หนทางเดียวที่คุณสามารถเลือกได้ ยังมีการแก้ปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ช่วยให้คุณผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นจะต้องเสียสิทธิ์การคุ้มครองต่าง ๆ ของกรมธรรม์ไป โดยเนื้อหาต่อจากนี้เป็น “ทางเลือก” ที่ช่วยให้คุณผ่านพ้นปัญหาทางการเงินไปได้ ด้วยกรมธรรม์ที่คุณถืออยู่ ณ ตอนนี้

การกู้กรมธรรม์

การกู้เงินกรมธรรม์เป็นอีกหนึ่งทางเลือก หากคุณต้องการเวนคืนกรมธรรม์ โดยจะเป็นการกู้เงินจากกรมธรรม์ออกมาใช้เป็นเงินด่วนได้ แต่ไม่ใช่กับทุกกรมธรรม์ที่จะกู้เงินได้ อาจต้องดำเนินการปรึกษากับทางเจ้าหน้าที่ให้แน่ชัดเสียก่อน มูลค่าที่กู้ได้นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนมูลค่าเงินเวนคืนของกรมธรรม์เล่มนั้น ๆ และจะต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนที่บริษัทประกันกำหนด

กรมธรรม์แบบขยายเวลา

หากคุณตัดสินใจเรียบร้อยแล้วว่า ไม่ต้องการจ่ายเบี้ยประกันอีกต่อไปแล้ว แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องรับเงินก้อนจากการเวนคืนกรมธรรม์ การเปลี่ยนให้กรมธรรม์กลายเป็น “กรมธรรม์แบบขยายเวลา” ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี โดยคุณนั้นจะไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกันอีกต่อไป แต่ยังได้รับการคุ้มครองต่าง ๆ อยู่จนครบระยะเวลาที่สัญญายังคงหลงเหลืออยู่ แต่ระยะเวลานั้นจะถูกลดน้อยลงมาก ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมกรมธรรม์สามารถคุ้มครองได้ถึง 20 ปี อาจลดเหลืออยู่ที่ 10 ปี เป็นต้น

กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ

อีกหนึ่งทางเลือกของที่ดีกว่าการยกเลิกกรมธรรม์ หลังจากประเมินแล้วว่า ไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันต่อไปได้อีกต่อไปแล้ว คือการเลือกทำให้กรมธรรม์ที่คุณถืออยู่กลายเป็น “กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ” ซึ่งมีความคล้ายกับกรมธรรม์แบบขยายเวลาจากข้อที่แล้วสักเล็กน้อย แต่มีข้อแตกต่างอยู่ที่ระยะเวลาการคุ้มครองนั้นจะเทียบเท่าเดิม ไม่มีการลดระยะเวลาลงมา โดยจะไปลดในส่วนของวงเงินคุ้มครองในกรมธรรม์นั้น ๆ แทน ในส่วนนี้วงเงินก็จะแตกต่างกันออกไป ตามปัจจัยร่วมต่าง ๆ ภายในกรมธรรม์นั้น ๆ

การเตรียมตัวก่อนเวนคืนกรมธรรม์

เอกสารยกเลิกประกันสุขภาพ

ถ้าสุดท้ายแล้วการเวนคืนกรมธรรม์ คือทางเลือกที่คุณตัดสินใจเลือกแล้ว สิ่งที่คุณจะต้องดำเนินการคือเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจเบื้องต้นของการเวนคืนกรมธรรม์ จำนวนเงินที่จะได้รับ ในส่วนนี้เราแนะนำให้คุณเข้ารับการปรึกษาโดยตรงกับบริษัทที่คุณทำประกันด้วย เมื่อเข้าใจข้อตกลงต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เอกสารที่ต้องเตรียมหลัก ๆ ก็มีดังนี้

  เล่มกรมธรรม์ประกันภัยที่ต้องการเวนคืน

  แบบฟอร์มขอเวนคืนกรมธรรม์พร้อมลงลายมือชื่อ

  สำเนาบัตรประชาชนของผู้ขอเวนคืน

ในส่วนของช่องทางการติดต่อ ขึ้นอยู่กับบริษัทที่คุณนั้นทำประกันด้วย ถ้ามีสาขาอยู่ใกล้บ้านคุณสามารถติดต่อโดยตรงได้เลย หรืออาจติดต่อผ่านตัวแทนจำหน่ายก็ได้เช่นเดียวกัน ในส่วนของการยื่นเอกสารมีทั้งการยื่นด้วยตนเอง ยื่นผ่านตัวแทน ไปจนถึงการส่งเอกสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้ง ไปรษณีย์ หรือ E-mail เป็นต้น

สรุป

การเวนคืนกรมธรรม์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอสมควร ก่อนตัดสินใจดำเนินการ เราอยากให้ประเมินผลต่าง ๆ ที่อาจตามมา ความเสี่ยงที่คุณจะต้องแบกรับหลังจากยกเลิกกรมธรรม์ ตลอดจนความคุ้มค่าที่จะได้รับกลับมา การเวนคืนนั้นจะดีที่สุด ต่อเมื่อทำในระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยการตัดสินใจที่สมเหตุสมผล เพราะหากเป็นแค่ในเรื่องของ “หมุนเงินไม่ทัน” ยังมีทางเลือกอีกหลายทาง ที่เปลี่ยนให้กรมธรรม์ของคุณกลายเป็นเงินก้อนขึ้นมาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเวนคืนเสียด้วยซ้ำ

You May Also Like

ผู้เกี่ยวข้องในประกันสุขภาพ
บทความ

ผู้เกี่ยวข้องในกรมธรรม์ประกันสุขภาพมีใครบ้าง

สำหรับมือใหม่ที่พึ่งทำความรู้จักกับวงการประกันภัยอาจจะเกิดความไม่เข้าใจหรือสงสัยเกี่ยวกับคำเรียกบุคคลต่างๆที่อยู่ในกรมธรรม์ วันนี้เราจึงจะมาอธิบายถึงความหมายและความแตกต่างของบุคคลเหล่านี้ให้ฟังกัน ผู้รับประกันภัย คือ คู่สัญญาฝ่ายที่ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ตามสัญญาประกันภัย โดยทั่วไปผู้รับประกันคือ บริษัทประกันภัย ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้รับประกัน มีบทบาทสำคัญใน การบริหารจัดการความเสี่ยง และ การให้ความคุ้มครอง แก่ผู้เอาประกันภัย หน้าที่หลักของผู้รับประกันภัย คือ  – รับความเสี่ยงแทนผู้เอาประกันภัย – ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ …

Free Look Period คือ
บทความ

Free Look Period คืออะไร?

สำหรับใครที่พึ่งเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการทำประกัน เรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องรู้อีกเรื่องหนึ่งเพื่อไม่ให้เสียสิทธิของตัวเองหลังจากการซื้อกรมธรรม์แล้วคือ Free Look Period หรือ ‘ระยะเวลาพิจารณา’ เป็นสิทธิ์ที่บริษัทประกันภัยมอบให้แก่ผู้เอาประกันภัยหลังจากการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยมีเวลาศึกษารายละเอียดและตัดสินใจว่าต้องการยกเลิกกรมธรรม์หรือยังคงต้องการความคุ้มครองต่อไป โดยหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ภายในระยะเวลาพิจารณานี้จะไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ ระยะเวลาสำหรับ ‘ระยะเวลาพิจารณา’ (Free Look Period) โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 15 วันสำหรับการติดต่อซื้อประกันกับทางตัวแทนหรือผ่านระบบธนาคาร และ 30 …

ประกันสุขภาพเด็ก
บทความ

ประกันสุขภาพเด็ก ควรคุ้มครองอะไรบ้างในปี 2567

ด้วยค่ารักษาโรงพยาบาลและค่าแพทย์ที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายกำลังมองหาประกันสุขภาพเด็กที่มอบความคุ้มครองที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในสมัยนี้ และแน่นอน ในท้องตลาดมีให้เลือกเยอะแยะมากมาย บางครั้งอาจจะเลือกยากว่าควรเลือกประกันสุขภาพเด็กที่ไหนดี วันนี้ทาง LUMA เลยอยากจะมาชี้แจงให้เข้าใจกันแบบชัดๆ ง่ายๆ ว่า ประกันสุขภาพเด็กคุ้มครองอะไร และ ตรงไหนที่ควรให้ความสำคัญ ค่ารักษาผู้ป่วยใน ค่ารักษาแบบผู้ป่วยในหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคหรือบาดเจ็บที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล เรียกอีกชื่อว่า Inpatient Care หรือ …