10 ประโยคที่ใช้บ่อยเมื่อไปเที่ยวอิตาลี

หากคุณกำลังวางแผนจะไปเที่ยวอิตาลี นอกจากการศึกษาสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งช็อปปิ้ง แหล่งอาหารร้านเด็ดร้านดังแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือการเรียนรู้วลี คำ หรือประโยคพื้นฐานที่ใช้บ่อยเมื่อไปเที่ยวอิตาลี เพื่อให้สื่อสารกับคนพื้นถิ่นได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น และถือเป็นการเคารพวัฒนธรรมภาษาอิตาลีอีกด้วย ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ 10 ประโยคที่ใช้บ่อยเมื่อไปเที่ยวอิตาลี รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับภาษาอิตาลี และมารยาทที่ควรรักษาเมื่อไปเที่ยวอิตาลี พร้อมแล้วก็ตามมาอ่านกันได้เลย

แนะนำข้อมูลภาษาอิตาลี

ภาษาอิตาลีถูกจัดในกลุ่มภาษาโรมานซ์ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน เช่นเดียวกับพวกภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส และภาษาฝรั่งเศส การอ่านเขียน รวมถึงการออกเสียงภาษาอิตาลีนั้นง่ายมาก ๆ ถ้าหากว่าคุณเข้าใจการออกเสียงของภาษาอังกฤษ โดยภาษาอิตาลีจะมีอักษรเพียง 21 ตัวเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นสระ 5 ตัว คือ A E I O U และอีก 16 ตัวจะเป็นพยัญชนะ รวมถึงรูปแบบประโยคของภาษาอิตาลีนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับภาษาอังกฤษ คือเริ่มจากประธาน กริยา และตามด้วยกรรม ทั้งยังมีการใช้ Tense บ่งบอกระยะเวลาอดีต ปัจจุบัน อนาคตอย่างชัดเจน นอกจากนี้หากคุณรู้หลักที่ชัดเจนของภาษาอิตาลีแล้ว ก็สามารถต่อยอดไปเรียนภาษาอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มภาษาโรมานซ์ได้แบบสบาย ๆ เลยล่ะ 

10 ประโยคหรือคำพูดที่ใช้บ่อยเมื่อไปเที่ยวอิตาลี

การเรียนรู้ภาษาอิตาลีสัก 5-10 ประโยคนั้นจะเป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยวประเทศอิตาลีเป็นอย่างมาก ไม่ว่าคุณจะไว้ใช้ทักทาย ขอร้อง ขอโทษ ขอบคุณ หรือแม้แต่การสอบถามเส้นทาง สอบถามราคาข้าวของต่าง ๆ ดังนี้

สวัสดี / ทักทาย

สำหรับภาษาอิตาลีนั้นมีคำสวัสดี หรือทักทายที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือคำว่า Ciao (อ่านว่า เชา) ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นคำทักทายคนสนิท เพื่อน คนในครอบครัว ต่างจากการใช้สวัสดี หรือทักทายคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนที่จะเป็นการทักทาย 3 ช่วงเวลา ได้แก่ อรุณสวัสดิ์ Buon Giorno (อ่านว่า บวนโจร์โน่) สวัสดีตอนบ่าย Buon Pomeriggio (อ่านว่า บอนโปเมรีโจ)  และสวัสดีตอนเย็น Buona Sera (อ่านว่า บอนนาเซร่า) ซึ่งจะมีความเป็นทางการ สามารถใช้ทักทายพนักงานตามห้างฯ ร้านอาหาร โรงแรม หรือคนทั่วไปได้อย่างอิสระ

ขอบคุณ

คำขอบคุณก็เป็นอีกหนึ่งวลีที่ถูกใช้บ่อยมากที่สุดในหมู่นักท่องเที่ยว ซึ่งคำว่าขอบคุณในภาษาอิตาลีนั้นจะใช้คำว่า Grazie (อ่านว่า กราเซียเอ) ที่สามารถใช้ขอบคุณได้ในทุกสถานการณ์ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตั้งแต่คนขับแท็กซี่ พนักงานขนกระเป๋าของโรงแรม พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารไปจนถึงผู้คนที่คุณไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน แต่คุณต้องการแสดงการขอบคุณคนนั้น ๆ ก็สามารถใช้คำนี้ได้เลย ขณะเดียวกันถ้าหากคุณรู้สึกขอบคุณมาก ๆ สามารถใช้คำว่า Grazie Mille (อ่านว่า  กราเซียเอมิลเล่) หรือ Molte Grazie (อ่านว่า โมลเต้กราเซียเอ) ก็ได้

ด้วยความยินดี / ไม่เป็นไร

เมื่อมีคนขอบคุณแล้ว เราก็ควรตอบกลับด้วยคำว่า ไม่เป็นไร หรือด้วยความยินดี ซึ่งในภาษาอิตาลีสามารถพูดได้ว่า Prego (อ่านว่า เปรโก) ที่มีหลักการใช้คล้าย ๆ กับคำว่า You’re welcome ในภาษาอังกฤษ คือ สามารถใช้เพื่อตอบรับคนที่ขอบคุณคุณก็ได้ หรือจะใช้เพื่อเป็นการเชิญให้อีกฝ่ายพูดเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาก่อนที่คุณจะพูด รวมถึงถ้ามีคนมาเคาะประตู คุณก็สามารถบอกว่า Prego (อ่านว่า เปรโก) เพื่อเป็นการอนุญาตให้เขาเข้ามาห้อง หรือเป็นการบอกว่ายินดีต้อนรับก็ได้เช่นกัน

ขอโทษ / ขออภัย

ไม่ต่างจากคำว่าขอบคุณ คำว่าขอโทษนั้นก็เป็นคำที่ใช้พูดบ่อยในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเดินชนไหล่กันในตอนข้ามถนน เดินเหยียบท้าในตอนที่อยู่ที่ที่คนพลุกพล่าน หรือแม้แต่การเข้าประโยคเพื่อขอความช่วยเหลือ (Excuse me) ซึ่งในภาษาอิตาลีนั้นก็มีการพูดขอโทษ 2 รูปแบบด้วยกัน Scusi (อ่านว่า ส่ะกูสิ) สำหรับระดับที่เป็นทางการ นิยมใช้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า หรือใช้เวลาเรียกพนักงานเพื่อสั่งอาหาร หรือซื้อสินค้า ส่วน Scusa (อ่านว่า ส่ะกูซ่า) จะเป็นภาษาระดับไม่เป็นทางการนิยมใช้ขอโทษเพื่อนสนิท และคนในครอบครัว  

ฉันต้องการ…

การบอกความต้องการของเราเป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำบ่อยไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะไปร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือใช้บริการอื่น ๆ ซึ่งภาษาอิตาลีคำว่าฉันต้องการ…นั้น สามารถพูดได้ว่า Vorrei… (อ่านว่า วอเร)  แล้วตามด้วยสิ่งของที่ต้องการได้เลย เช่น ถ้าต้องการบอกว่าฉันต้องการเบียร์ จะพูดว่า vorrei una birra” (อ่านว่า วอเร อูน่า บีร่า) หรือฉันต้องการไอศกรีมจะพูดว่า “vorrei un gelato” (อ่านว่า วอเร อุน เจลาโต้) หรือถ้าไม่รู้ว่าคำนาม หรือเมนูนั้นเรียกว่าอย่างไรก็สามารถพูดได้ว่า ฉันต้องการอันนั้น/สิ่งนั้น “vorrei quello” (อ่านว่า วอเร เควโล) แทนได้เช่นกัน

ราคาเท่าไหร่

เมื่อได้สิ่งของที่ต้องการแล้ว แน่นอนว่าก็ได้เวลาจับจ่ายใช้สอย และหนึ่งวลียอดฮิตเวลาคุยกับพ่อค้าแม่ขายก็คือ สิ่งของชิ้นนั้น ๆ ราคาเท่าไหร่ ซึ่งในภาษาอิตาลีจะต้องพูดว่า Quanto costa? (อ่านว่า ควอนโต คอสต้า) แต่ถ้ามีหลายชิ้นรวม ๆ กัน หรือต้องการถามว่าของทั้งหมดนั้นราคาเท่าไหร่จะพูดว่า Quanto costano? (อ่านว่า ควอนโต คอสตาโน่) หรือถ้าต้องการถามพนักงานถึงยอดเงินที่ต้องชำระทั้งหมดนั้น จะต้องพูดว่า “Quant’è?” (อ่านว่า ควอนเต้) ทั้งหมดเท่าไหร่และถ้าต้องการต่อราคาสักเล็กน้อยก็สามารถพูดได้ว่าลดให้หน่อยได้ไหม Mi fa uno sconto? (อ่านว่า มี ฟา อูโน่ ส่ะคอนโต้) แต่ขอแนะนำว่าให้ใช้ประโยคนี้ในตลาด หรือร้านค้าเล็ก ๆ เท่านั้นนะ

…อยู่ที่ไหน?

ในสถานการณ์ที่คุณกำลังมองหาเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว หรือจุดหมายปลายทาง แต่ไม่มั่นใจในเส้นทางนั้นสามารถพูดเป็นภาษาอิตาลีได้ว่า Dov’è… ? (อ่านว่า โดเฟว่) ตามด้วยชื่อสถานที่ที่คุณต้องการจะไป ไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำอยู่ที่ไหน? Dov’è il bagno? (อ่านว่า โดเฟว่ อิล แบคโน่) ตู้เสื้อผ้าอยู่ที่ไหน Dov’è la guardaroba? (อ่านว่า โดเฟว่ ลา กรัวดาโรบ้า) และตู้ ATM อยู่ที่ไหน Dove posso trovare uno sportello bancomat? (อ่านว่า โดเฟว่ พอสโซ่ โทรวาเร อูโน่ สะปอร์เตลโล่ บันโคมัท) เป็นต้น ซึ่งในบางทีชาวอิตาลีก็จะอธิบายเร็วมาก ๆ จนคุณฟังไม่ทัน แนะนำว่าหากฟังไม่ทันให้บอกพวกเขาว่า Ripeta, per favore (อ่านว่า ริเพต้า เพอร์ ฟาวอเร) เพื่อให้เขาอธิบายเส้นทางการเดินทางอีกครั้ง

ยินดีที่ได้รู้จัก

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการผูกมิตรหาเพื่อนในต่างแดนนั้น เมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายได้ทำการแนะนำตัวแล้ว เราก็จำเป็นต้องตอบรับการทำความรู้จักนั้นด้วยการพูดว่ายินดีที่ได้รู้จัก หรือในภาษาอังกฤษที่มักพูดว่า Nice to meet you นั่นเอง ซึ่งในภาษาอิตาลีจะพูดอย่างเป็นทางการว่า Piacere di conoscerla (อ่านว่า ปีอาเชเร ดี โคโนเชร์ลา) หรือแบบไม่เป็นทางการ ไว้พูดกับคนสนิท คนในวัยเดียวกันก็จะใช้เป็น Piacere di conoscerti (อ่านว่า ปีอาเชเร ดี โคโนเชร์ตี) ส่วนคนท้องถิ่นจะนิยมพูดสั้น ๆ ว่า Piacere  (อ่านว่า ปีอาเชเร)

ลาก่อน

เมื่อทักทายพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาที่จะต้องเอ่ยคำลา ซึ่งในภาษาอิตาลีนั้นสามารถพูดว่า “ลาก่อน” ได้หลายรูปบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Arrivederci (อ่านว่า อาริเวเดร์ชี)  ที่เป็นคำบอกลาอย่างเป็นทางการ สามารถใช้ได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัย หรือถ้าจะบอกว่าสักวันหนึ่งเราคงพบกันอีกจะใช้ว่า Arrivederla (อ่านว่า อาริเวเดร์ลา) กลับกันถ้าต้องการความเป็นกันเองเล็กน้อยก็จะใช้ A dopo (อ่านว่า อะ โดโพ) หรือ Ci vediamo  (อ่านว่า ชี เวดิอาโม่) แต่ถ้าเป็นการบอกล่าเพื่อจะเจอกันใหม่ในวันพรุ่งนี้ก็จะใช้ A domani (อ่านว่า อะ โดมานิ) แทน ส่วนถ้านิยมพิมพ์เป็นข้อความว่าเจอกันคราวหน้าจะใช้เป็น Ci sentiamo (อ่านว่า ชี เซนติอาโม่)

พูดภาษาอังกฤษได้ไหม?

แม้ว่าชาวอิตาลีจะแฮปปี้ที่เห็นคุณพยายามใช้ภาษาของพวกเขามากสักเท่าไหร่ แต่ถ้าหากท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถสื่อสารภาษาอิตาลีให้คนท้องถิ่นเข้าใจได้ชัดเจนนั้น ประโยคหนึ่งที่คุณควรพูดกับพวกเขาก็คือ Parla Inglese? (อ่านว่า ปาร์ลา อิงเกรเซ่) หรือที่แปลว่า คุณพูดภาษาอังกฤษได้ไหม? นั่นเอง ถ้าเขาพูดได้เขาก็อาจจะตอบกลับมาว่า Piccolo (อ่านว่า พิกโคโล่) ที่แปลว่าได้นิดหน่อย เท่านี้คุณก็จะได้สื่อสารกับคนท้องถิ่นได้รู้เรื่องและเข้าใจตรงกันได้มากขึ้นระดับหนึ่งแล้วล่ะ

 

พูดภาษาอิตาลี

ประโยค การกระทำ หรือมารยาทที่ควรระวังเวลาอยู่ที่ประเทศอิตาลี

เลี่ยงการทักทายว่า “Ciao” (อ่านว่า เชา) กับคนที่เคยพบกันครั้งแรก กลับกันควรทักทายเขาตามช่วงเวลานั้น ๆ ว่า อรุณสวัสดิ์ Buon Giorno (อ่านว่า บวนโจร์โน่) สวัสดีตอนบ่าย Buon Pomeriggio (อ่านว่า บอนโปเมรีโจ)  และสวัสดีตอนเย็น Buona Sera (อ่านว่า บอนนาเซร่า) อย่างสุภาพและยิ้มแย้มแทน

ชาวอิตาลีมักยื่นมือมาเช็คแฮนด์เพื่อเป็นการทักทายคนที่เพิ่งเคยเจอกันครั้งแรก และตามธรรมเนียมถ้าเป็นผู้หญิงคุยกับผู้ชาย ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นผู้ที่ยื่นมืออกไปก่อน ส่วนการทักทายแต่เพื่อน หรือคนสนิทจะเป็นการจูบแก้มแทน

  • ควรเลี่ยงการส่งเสียงดังโวยวาย หรือพูดคำหยาบเป็นภาษาอังกฤษในที่สาธารณะ เพราะปกติแล้วชาวอิตาลีจะมองคนประเทศอื่นที่มาเที่ยวที่ประเทศของเขาว่าเป็นแขกบ้านแขกเมืองที่ควรประพฤติตัวให้สุภาพ และให้เกียรติบ้านเมืองของเขานั่นเอง
  • ชาวอิตาลีนั้นขึ้นชื่อในเรื่องการใช้ภาษากายมากที่สุด ซึ่งเวลาพูดคุยกับชาวอิตาลี ควรสบตาพวกเขาทุกครั้ง มิเช่นนั้นพวกเขาอาจคิดว่าคุณกำลังพยายามปิดบังอะไรบางอย่างอยู่ ขณะเดียวกันถ้าจำเป็นต้องเรียกพนักงานเสิร์ฟ ควรยกนิ้วชี้ขึ้นแล้วสบตาพวกเขาแทนกันกวักมือเรียก
  • คุณสามารถพูดคุยกับชาวอิตาลีได้เกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอิตาลีที่ไหนดี อาหารอิตาลีอะไรอร่อย แหล่งช็อปปิ้งอิตาลีมีที่ไหนบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่คุณห้ามพูดถึงเลยก็คือเรื่องเกี่ยวกับ “มาเฟีย” เพราะมาเฟียเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของอิตาลีที่ทำให้อัตราการตายสูงขึ้น และสุดท้ายคุณอาจทำให้คู่สนทนารู้สึกอึดอัดใจได้
  • ควรแต่งกายให้สุภาพ ให้เกียรติสถานที่อยู่เสมอ เพราะแฟชั่นการแต่งกายนั้นถือเป็นวัฒนธรรมสำคัญของประเทศอิตาลีเลยก็ว่าได้ ควรเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าฉีกขาด หรือแบบซีทรู หรือถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปสถานที่ทางศาสนา ก็ควรเลือกแต่งกายที่คลุมไหล่และคลุมเข่าอย่างมิดชิด
  • ชาวอิตาลีจะให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเป็นอย่างมาก ซึ่งควรนั่งรับประทานอาหารให้เรียบร้อยภายในร้าน ไม่ควรซื้อและเดินทานไปรอบ ๆ เมือง ขณะเดียวกันการนั่งตามขั้นบันได หรือพื้นบางแห่งเพื่อรับประทานอาหารก็เป็นข้อห้ามอีกด้วย
  • ธรรมเนียมในการช็อปปิ้งที่ประเทศอิตาลีนั้นจะเป็นการให้บริการแบบ First Come, First Serve พนักงานจะใส่ใจกับลูกค้าที่มาก่อนเสมอ คุณที่มาทีหลังอาจจำเป็นต้องรอนานหน่อย แต่ระหว่างนี้ห้ามหยิบจับสินค้าภายในร้านตามอำเภอใจเด็ดขาด! ควรรอให้พนักงานเข้ามาถามก่อนว่าคุณต้องการสินค้าอะไรจะดีที่สุด

และนี่ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับภาษาอิตาลีที่คุณควรรู้เมื่อมีโอกาสไปเยือนอิตาลี ไม่ว่าจะเป็นคำ วลี ประโยคที่ใช้บ่อย หรือแม้แต่การกระทำและมารยาทที่ควรระวังเมื่อไปเที่ยวอิตาลี และเพื่อให้การเที่ยวอิตาลีเป็นไปอย่างราบรื่นปลอดภัยหายห่วงก็อย่าลืมเลือกซื้อประกันเดินทางไปอิตาลีติดตัวไว้ให้ชัวร์ก่อนบินนะ ซึ่งการมีประกันการเดินทางต่างประเทศนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยคุ้มครองคุณจากอาการเจ็บป่วยหนักสาหัสจนเข้าโรงพยาบาล อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หรือของสูญหายระหว่างท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถช่วยชดเชยในกรณีที่ไฟล์ทบินเลื่อน ดีเลย์ หรือยกเลิกอีกด้วย เรียกได้ว่าถ้าซื้อติดไว้ก็จะช่วยให้พออุ่นใจตลอดการเดินทางแน่นอน

You May Also Like

ผู้เกี่ยวข้องในประกันสุขภาพ
บทความ

ผู้เกี่ยวข้องในกรมธรรม์ประกันสุขภาพมีใครบ้าง

สำหรับมือใหม่ที่พึ่งทำความรู้จักกับวงการประกันภัยอาจจะเกิดความไม่เข้าใจหรือสงสัยเกี่ยวกับคำเรียกบุคคลต่างๆที่อยู่ในกรมธรรม์ วันนี้เราจึงจะมาอธิบายถึงความหมายและความแตกต่างของบุคคลเหล่านี้ให้ฟังกัน ผู้รับประกันภัย คือ คู่สัญญาฝ่ายที่ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ตามสัญญาประกันภัย โดยทั่วไปผู้รับประกันคือ บริษัทประกันภัย ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้รับประกัน มีบทบาทสำคัญใน การบริหารจัดการความเสี่ยง และ การให้ความคุ้มครอง แก่ผู้เอาประกันภัย หน้าที่หลักของผู้รับประกันภัย คือ  – รับความเสี่ยงแทนผู้เอาประกันภัย – ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ …

Free Look Period คือ
บทความ

Free Look Period คืออะไร?

สำหรับใครที่พึ่งเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการทำประกัน เรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องรู้อีกเรื่องหนึ่งเพื่อไม่ให้เสียสิทธิของตัวเองหลังจากการซื้อกรมธรรม์แล้วคือ Free Look Period หรือ ‘ระยะเวลาพิจารณา’ เป็นสิทธิ์ที่บริษัทประกันภัยมอบให้แก่ผู้เอาประกันภัยหลังจากการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยมีเวลาศึกษารายละเอียดและตัดสินใจว่าต้องการยกเลิกกรมธรรม์หรือยังคงต้องการความคุ้มครองต่อไป โดยหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ภายในระยะเวลาพิจารณานี้จะไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ ระยะเวลาสำหรับ ‘ระยะเวลาพิจารณา’ (Free Look Period) โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 15 วันสำหรับการติดต่อซื้อประกันกับทางตัวแทนหรือผ่านระบบธนาคาร และ 30 …

ประกันสุขภาพเด็ก
บทความ

ประกันสุขภาพเด็ก ควรคุ้มครองอะไรบ้างในปี 2567

ด้วยค่ารักษาโรงพยาบาลและค่าแพทย์ที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายกำลังมองหาประกันสุขภาพเด็กที่มอบความคุ้มครองที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในสมัยนี้ และแน่นอน ในท้องตลาดมีให้เลือกเยอะแยะมากมาย บางครั้งอาจจะเลือกยากว่าควรเลือกประกันสุขภาพเด็กที่ไหนดี วันนี้ทาง LUMA เลยอยากจะมาชี้แจงให้เข้าใจกันแบบชัดๆ ง่ายๆ ว่า ประกันสุขภาพเด็กคุ้มครองอะไร และ ตรงไหนที่ควรให้ความสำคัญ ค่ารักษาผู้ป่วยใน ค่ารักษาแบบผู้ป่วยในหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคหรือบาดเจ็บที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล เรียกอีกชื่อว่า Inpatient Care หรือ …