รู้หรือไม่ ? มะเร็งเต้านมคือโรคอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตหญิงไทยมากที่สุด
มะเร็งเต้านมคือ 1 ในชนิดของโรคมะเร็งที่มีพบได้บ่อยที่สุด ในประเทศไทยมีการเก็บสถิติเอาไว้ว่า เป็นโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากที่สุด โดยโรคมะเร็งเต้านมเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างที่คาดไม่ถึง แม้ว่าจะไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันได้โดยตรง แต่เนื่องด้วยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ของมะเร็ง ทำให้โรคนี้เป็นโรคที่เป็นเหมือนฝันร้ายของมนุษย์ทุกคนบนโลก ซึ่งบทความนี้เราจะมารู้จักกับโรคชนิดนี้ให้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเข้าใจและเตรียมตัวป้องกัน พร้อมกับเข้าใจสาเหตุของโรคมากยิ่งขึ้น
ทำความเข้าใจให้มากขึ้น มะเร็งเต้านมคืออะไร ?
มะเร็งเต้านม คือโรคที่เกิดความผิดปกติในบริเวณเต้านม มักจะพบเป็นก้อนเนื้อในขนาดต่าง ๆ เกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงกว่าในอัตราส่วนประมาณ 99 ต่อ 1 ตามตัวเลขที่สามารถรวบรวมได้ล่าสุด จากโรคมะเร็งที่พบได้ทั้งหมดในประเทศไทย มะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงที่จะเกิดอยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขความเสี่ยงที่สูงเลยทีเดียว ซึ่งนั่นทำให้คุณผู้หญิงทุกคนควรจะเรียนรู้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง พร้อมหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เราจะแนะนำในเนื้อหาถัดไปในบทความนี้
สาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม
ในปัจจุบันมะเร็งเต้านม คือโรคที่ยังหาต้นตอของการเกิดไม่ได้ ทางการแพทย์รู้เพียงแค่ว่า โรคชนิดนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ในเต้านมที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดการแบ่งตัวที่ไม่สามารถควบคุมได้ จนทำให้เซลล์กลายเป็นก้อนเนื้อซึ่งจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็น “มะเร็งเต้านม” มักจะเกิดจากเซลล์ท่อน้ำนม เป็นโรคที่ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากระยะเริ่มต้นของโรค จะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ แสดงออกมาให้เห็น เมื่อถึงระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายถึงจะสามารถรับรู้ได้ ซึ่งนั่นอาจสายเกินไปที่จะรักษาให้หายขาดได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
คำว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” เป็นคำง่าย ๆ ที่พูดกันติดปากในไทย ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายดีมากในด้านของสุขภาพ การเรียนรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคร้ายต่าง ๆ สามารถทำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงนั้น ๆ ได้ โอกาสที่จะเกิดโรคก็จะน้อยลง แม้จะเป็นโรคอย่าง “มะเร็งเต้านม” ก็ตาม มาดูกันว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ควรทำอย่างไรเพื่อที่จะเรียนรู้ความเสี่ยงต่อโรคนี้ ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันเลย !
เพศ
ตามที่ช่วงต้นเราได้แนะนำไปแล้ว ว่ามะเร็งเต้านมเกิดได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง ไม่ใช่ว่าผู้ชายจะไม่มีโอกาสเป็น แต่พบได้น้อยมาก ๆ เพียงเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าผู้ชาย ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 1,000 คน จะพบผู้ชายเพียงไม่ถึง 10 คนเท่านั้น
เชื้อชาติ
เป็นเรื่องน่าแปลก เพราะว่ามะเร็งเต้านมมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าในหญิงโซนยุโรป โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีผิวขาว ความเสี่ยงจะสูงมากกว่าหญิงผิวดำสัญชาติแอฟริกันเล็กน้อย แต่อาการของมะเร็งเต้านมในผู้หญิงผิวดำจะร้ายแรงกว่า ในผู้หญิงสัญชาติอื่น ๆ ก็จะมีความเสี่ยงที่ลดน้อยกว่า 2 สัญชาตินี้
การมีบุตร
มะเร็งเต้านมจะพบได้มากกว่าในกรณีที่ไม่เคยมีบุตรมาก่อน ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่โอกาสเสี่ยงก็จะทวีคูณมากไปเท่านั้น รวมไปถึงผู้ที่เคยผ่านการมีบุตรมาก่อน แต่ไม่ได้ให้นมบุตรด้วยวิธีการ “เข้าเต้า” มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ยิ่งมีบุตรมากเท่าไหร่ และผ่านการให้นมบุตรมากเท่าไหร่ โอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมก็จะน้อยลงไปเท่านั้น
ฮอร์โมน
เป็นปัญหาเดียวกับมะเร็งปากมดลูก “ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด” ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ถ้าทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมก็จะสูงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงผู้ที่มีภาวะหมดประจำเดือน ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
อายุ
ช่วงอายุที่พบมะเร็งเต้านมได้มากที่สุด คือช่วงวัยกลางคน ในไทยมักจะพบในช่วงวัยมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และมีโอกาสพบได้มากขึ้นอีกในช่วงวัย 50 ปีขึ้นไป แต่ถึงกระนั้นก็สามารถพบผู้ป่วยอายุน้อยได้อยู่บ่อยครั้ง แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่พบได้บ่อยก็ตาม
ความอ้วน
ภาวะมวลร่างกายเกินหรือ “อ้วน” เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม เนื่องจากมีผลโดยตรงกับการกระตุ้นฮอร์โมนภายในร่างกาย ยิ่งเป็นผู้ที่มีภาวะอ้วนผนวกเข้ากับอายุเลขช่วงวัยกลางคน ตัวเลขของความเสี่ยงก็จะพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว การออกกำลังกายควบคุมน้ำหนัก สามารถลดความเสี่ยงในส่วนนั้นลงมาได้ไม่มากก็น้อย
พันธุกรรม
มะเร็งเต้านมคือโรคที่สามารถพบการถ่ายทอดจากสายเลือดโดยตรง เนื่องจากมีการถ่ายทอด “พันธุกรรมมะเร็ง” จากรุ่นสู่รุ่น หากผู้ที่มีสายเลือดตรงในครอบครัวตรวจพบว่ามีอาการมะเร็งเต้านม โอกาสที่โรคจะถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกนั้นมีสูงถึง 10% เลยทีเดียว (โดยเฉพาะเพศหญิง)
อาการของมะเร็งเต้านมสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งเต้านม
- มีก้อนเนื้อบริเวณเต้านม สามารถคลำแล้วเจอเป็นเหมือนไตแข็ง ๆ อาจพบได้ทั้งชนิดที่คลำแล้วเจ็บและไม่เจ็บ
- ผิวหนังไม่เรียบเนียนเหมือนแต่ก่อน อาจเกิดได้ทั้งการที่เป็นรอยบุ๋มลงไป หรืออาจบวมเป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนเปลือกส้ม
- ลักษณะของเต้านมเปลี่ยนไปอย่างผิดปกติ ทั้งในเรื่องของ ขนาด รูปทรง สี หากเกิดในเต้าใดเต้าหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงมาก
- มีน้ำไหลออกมาจากหัวนม ในผู้ที่ไม่ได้เป็นคุณแม่ที่กำลังให้นม หากมีน้ำไหลออกมา ไม่ว่าจะเป็นสีใส หรือเป็นสีเหลือง ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
- มีอาการผิดปกติบริเวณเต้านม ทั้งการเกิดผื่นคันที่หายช้า ไปจนถึงเกิดอาการเจ็บโดยไม่ทราบสาเหตุ หากอาการหนักจะเกิดการอักเสบบวมแดง
มะเร็งเต้านม มีกี่ระยะ
อาการมะเร็งเต้านมจะมีการแบ่งระยะคล้าย ๆ กับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ก่อนอื่นนั้นจะเป็นในช่วงของการฟักตัว ช่วงแรกที่เกิดขึ้นจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ต่อร่างกายทั้งสิ้น หากตรวจพบในระยะนี้ สามารถดำเนินการรักษามะเร็งเต้านมได้ง่ายที่สุด โอกาสหายสูงถึง 100% แต่ถ้าเลยระยะฟักตัวเข้าสู่ “ระยะลุกลาม” ความรุนแรงของอาการสามารถแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้
- 1.ระยะแรกจะสามารถตรวจพบก้อนเนื้อภายในเต้านม ขนาดจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 เซนติเมตร
- 2.ระยะนี้ก้อนเนื้อจะใหญ่ขึ้นอยู่ที่เกือบ 5 เซนติเมตร พร้อมกับเริ่มลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง
- 3.ก้อนเนื้อจะใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร เซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้รักแร้
- 4.เป็นระยะที่ร้ายแรงที่สุด เซลล์มะเร็งจะลุกลามจากเซลล์เต้านมไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แนวทางป้องกันมะเร็งเต้านม
เนื่องจากเป็นโรคที่มักมารอคอยให้ร่างกายของเราอ่อนแอ ดังนั้นการป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอและหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าโรคนี้จะเป็นฝันร้ายที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่ถ้ามีสุขภาพที่แข็งแรง ในขั้นตอนของการรักษามะเร็งเต้านม จะสามารถสู้ต่อการรักษาได้ดีกว่าผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยที่มีความเสี่ยง ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้น การตรวจสอบก็ควรทำบ่อยขึ้นตามไปด้วยตามช่วงวัย
วินิจฉัยมะเร็งเต้านมอย่างไร
อาการแรกเริ่มของการเป็นมะเร็งเต้านม อย่างที่เราได้กล่าวไปในเนื้อหาทั้งหมดคือ “พบก้อนเนื้อในเต้านม” ดังนั้นการตรวจสอบจึงสามารถใช้การคลำบริเวณเต้านม ใต้รักแร้ เพื่อตรวจสอบอาการเบื้องต้นของโรคได้ มีการอบรมจากหลาย ๆ ศูนย์การแพทย์ระดับแนวหน้าของไทย เกี่ยวกับ “วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง” ซึ่งจะเป็นการใช้ฝ่ามือคลำตามตำแหน่งต่าง ๆ บนเต้านม เมื่อตรวจพบสิ่งผิดปกติ จะได้เข้ารับการรักษามะเร็งเต้านมอย่างทันท่วงที แต่ต้องขอแจ้งเอาไว้ก่อน ในกรณีที่พบก้อนเนื้อ ไม่ได้หมายความถึงโรคมะเร็งเท่านั้น ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อฟังผลวินิจฉัยที่ชัดเจนจะดีที่สุด
วิธีการรักษามะเร็งเต้านม
ในตอนนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นพัฒนาไปกว่าเดิมเป็นอย่างมาก การตรวจหามะเร็งเต้านมสามารถทำได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น ด้วยเครื่อง “Digital Mammogram” ซึ่งจะให้ความละเอียดมากกว่าการคลำด้วยมือ เมื่อตรวจพบก็จะดำเนินการรักษาตามระยะของอาการ โดยการรักษามะเร็งเต้านมสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป จะเป็นเทคนิคที่เรียกว่า “ผ่าตัดแบบสงวนเต้า” และอีกวิธีที่พบบ่อยที่สุดคือการผ่าทั้งเต้านมทิ้งไป ซึ่งอาจจะต้องทำควบคู่กับการใช้รังสีและเคมีบำบัด
บทส่งท้าย
จากเนื้อหาทั้งหมด คงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า มะเร็งเต้านมคือฝันร้ายของสุภาพสตรีทั่วโลก เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% มีเพียงวิธีเตรียมตัวรับมือเมื่อเกิดอาการเพียงเท่านั้น ดังนั้นเพื่อความมั่นคงในชีวิตที่ยั่งยืนสืบไป การทำ “ประกันมะเร็ง” จาก LUMA ที่มีความคุ้มครองโรคกลุ่มมะเร็ง จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ต่อความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้เช่นนี้ ความน่ากลัวของโรคร้ายคือการไม่มีเวลาให้คุณได้เตรียมใจ เพราะฉะนั้นเตรียมการรับมือเอาไว้แต่เนิ่น ๆ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
Methinee C.
ผู้ตรวจสอบความถูกต้องของบทความทางการแพทย์