ไขข้อสงสัย กัญชาทางการแพทย์ (Cannabis Based Medicine) คืออะไร?

การใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วย (Cannabis Based Medicine) นั้นมีมานานแล้ว แต่หลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างเป็นทางการ ตลอดมาจนถึงฉบับร่างล่าสุดนี้ จากร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกกัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำให้การใช้กัญชาทางการแพทย์กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายขึ้นด้วย วันนี้ลูม่าจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้มากขึ้นไปพร้อมกันกับบทความนี้

ทำความเข้าใจการใช้กัญชาในประเทศไทย

ก่อนอื่นเรามาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชากันอีกสักครั้ง เพื่อให้พอทราบถึงที่มาที่ไปก่อนจะลงลึกไปถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะเชื่อว่าหลายคนอาจจะกำลังสับสนหรืออาจจะตามไม่ทันว่าปัจจุบันมีข้อสรุปเรื่องนี้อย่างไรบ้าง 

  • พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ยังคงห้ามให้มีการผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยกเว้นเพื่อประโยชน์ทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว *ห้ามใช้เพื่อนันทนาการ

  • ต่อมาปลายปี 2563 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้ปลดล็อกทุกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดอีกต่อไป ใน 2 ลักษณะคือ 1.สารสกัดจากพืชกัญชาที่ได้จากการอนุญาตปลูกในประเทศ ในทุกส่วนที่มีปริมาณสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ไม่เกิน 0.2% โดยสารที่พบในพืชกัญชานี้ มีผลในการลดปวด ลดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ แต่หากได้รับในขนาดสูงจะทำให้มีอาการเมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้การตัดสินใจและความจำ และ 2. สารสกัดจากเมล็ดกัญชาที่ได้จากการปลูกในประเทศ

  • ล่าสุด 25 ม.ค.2565 (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจะไม่มีกัญชาอยู่ในยาเสพติดแล้ว แต่สารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ยังจัดเป็นยาเสพติดอยู่ ซึ่งขณะนี้กำลังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ
กัญชารักษาการแพทย์

สรุปง่าย ๆ ว่าคนไทยจะสามารถใช้กัญชาได้ก็ต่อเมื่อเป็นสารสกัดกัญชาที่ใช้ในกระบวนการทางการแพทย์ที่มีขั้นตอนเพาะปลูกในประเทศ แปรรูป ตลอดจนการรักษาที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขแล้วเท่านั้น โดยที่สารสกัดดังกล่าวจะต้องมี THC ไม่เกิน 0.2% 

สำหรับ กัญชาทางการแพทย์ (Cannabis Based Medicineหมายถึง ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีส่วนประกอบจากสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ที่ได้จากการสกัดพืชกัญชา เช่น Δ9-Tetrahydrocannabinol (THC) ที่ทำให้รู้สึกมึนเมา ตัวเบา ตื่นเต้น เร้าใจ และ Cannabidiol (CBD) ที่มีฤทธิ์ต้านอาการเมาเคลิ้มและอาการทางจิตของ THC และช่วยลดความตื่นเต้นตกใจ  โดยต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเหล่านี้ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย 

  • แพทย์ผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่กรมการแพทย์รับรอง
  • สถานพยาบาลที่จะให้การรักษาต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ต้องระบุได้ และได้รับการรับรองจากอย.
กัญชาทางแพทย์

กัญชาทางการแพทย์ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง

แม้ปัจจุบันจะมีการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้รักษาสารพัดโรค แต่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขแสดงให้เห็นว่ามีเพียง 5 กลุ่มโรค/กลุ่มอาการเท่านั้นที่กัญชาทางการแพทย์สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ได้แก่

  • กล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity) จากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
    กัญชาทางการแพทย์สามารถช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคดังกล่าวได้ แต่ไม่ได้ช่วยลดอาการอื่น ๆ ของโรค และไม่สามารถป้องกันการเป็นซ้ำ หรือรักษาโรคให้หายขาดได้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขยังไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้เป็นวิธีแรกในการรักษา แต่ควรใช้เมื่อวิธีการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันตามปกติไม่ได้ผล
  • โรคลมชักที่รักษายากหรือดื้อยา (Intractable Epilepsy)
    สารสกัดจากกัญชาที่มีปริมาณ CBD 20 ส่วน ต่อสารประกอบ THC 1 ส่วน สามารถใช้รักษาโรคลมชักในผู้ป่วยเด็กบางกลุ่มคือ Dravet syndrome, Lennox-Gastaut syndrome หรือโรคลมชักในผู้ป่วยเด็กที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชักทั่วไปได้ ซึ่งควรใช้ในลักษณะของการรักษาร่วม และติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด รวมถึงระมัดระวังการใช้กัญชาฯ ในเด็กหรือคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี (ยกเว้นมีข้อบ่งชี้บางประการ) เพราะสารสกัดกัญชาอาจทำให้เกิดโรคทางจิตเภท เช่น ซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
  • อาการปวดปลายประสาท (Neuropathic Pain)
    ผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้ปวดปลายประสาทมาแล้วมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ชนิด แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์สามารถเลือกใช้กัญชาทางการแพทย์ในการรักษาขั้นต่อไปได้ ในลักษณะของการให้เป็นยาเสริมควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน
  • อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด (Chemotherapy Induced Nausea and Vomiting)
    คลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลังจากได้รับเคมีบำบัด โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า หากรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันแล้วไม่ได้ผลก็สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ควบคู่การรักษาตามมาตรฐานของแพทย์ได้ แต่ต้องเป็นอาการข้างเคียงของเคมีบำบัดเท่านั้น ไม่ใช่อาการจากการแพ้ท้องรุนแรงหรือจากโรคอื่น โดยใช้สารสกัดกัญชาชนิดอัตราส่วน THC ต่อ CBD 1:1 หรือ ใช้สารสกัดกัญชาชนิด THC เด่น
  • ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS
    เพิ่มความอยากอาหารด้วยสารสกัดกัญชาชนิด THC เด่น โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆ วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร แล้วค่อยปรับเพิ่มขึ้นทีละนิดตามดุลพินิจของแพทย์

อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังคงแนะนำว่า การใช้สารสกัดจากกัญชาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และไม่ควรสารสกัดจากกัญชาได้รับปริมาณที่มากเกินกำหนด (Overdose) เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายที่รุนแรงได้ เช่น ความดันโลหิตแปรปรวน ใจสั่น ชีพจรไม่คงที่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และสติสัมปชัญญะผิดปกติ เป็นต้น

สำหรับความคุ้มครองของประกันสุขภาพเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ ลูม่าขอแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและตรวจสอบกับบริษัทประกันภัยของท่านอีกครั้ง และหากใครที่กำลังมองหาประกันสุขภาพแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากที่ไหน ลูม่าขออาสาเป็นผู้ช่วยในการค้นหาแผนประกันสุขภาพที่ดูแลครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการให้กับคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสุขภาพคลิก

Table of Contents

You May Also Like

New Health Standard คืออะไร
บทความ

New Health Standard คืออะไร

ความหมายของ New Health Standard  New Health Standard คือมาตรฐานของประกันสุขภาพแบบใหม่ ที่มีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทำไมถึงต้องเปลี่ยนเป็น New Health Standard? เพื่อสร้างมาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่ให้เหมาะสมกับสังคมสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากจากเมื่อก่อน …

community rating คือ
บทความ

Community Rating คืออะไร?

Community Rating เป็นหลักการที่ใช้ในการกำหนดระดับค่าเบี้ยประกันหรือค่าบริการทางด้านการแพทย์โดยไม่คำนึงถึงประวัติการเป็นโรคหรือสภาพสุขของบุคคลแต่ละคนในกลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมประกันสุขภาพ เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงการรักษาและประกันสุขภาพสำหรับทุกคนในกลุ่มนั้น โดยทั่วไปการเสนอราคาหรือการเสนอประกันในระบบ Community Rating จะไม่พิจารณาข้อมูลส่วนบุคคลเช่น อายุหรือประวัติการเป็นโรคของผู้เอาประกัน ทำให้ค่าเบี้ยหรือค่าบริการมีความเท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงสำหรับทุกคนในกลุ่มนั้นๆ แม้ว่าบางบุคคลอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากกว่าบางคนในกลุ่มก็ตาม หรือบางคนอาจมีอาการเรื้อรังที่ต้องการการรักษาบ่อยมากกว่าคนอื่น แต่ค่าเบี้ยหรือค่าบริการยังคงเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนในกลุ่มนั้นๆ หลักการ Community Rating มีจุดประสงค์เพื่อให้มีความยุติธรรมและเสมอภาคต่อทุกคนในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยไม่สนใจสถานะสุขภาพหรือความสามารถในการจ่ายเงินของบุคคลแต่ละคนในกลุ่มนั้น ๆ โดยมักจะใช้ในระบบประกันสุขภาพของประเทศหรือระบบที่เปิดให้กับสาธารณชนทั่วไปให้เข้าถึงได้ง่าย ๆ …

สิทธิรักษาพยาบาล
บทความ

สิทธิรักษาพยาบาล 3 ระบบของไทย

สิทธิรักษาพยาบาลในประเทศไทย คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ที่รัฐบาลมอบให้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สิทธิรักษาพยาบาลของไทยมีอะไรบ้าง  คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากภาครัฐ โดยมีระบบหลัก 3 ระบบ ดังนี้ สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทรักษาทุกโรค/บัตรทอง) สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ คือ  สิทธิรักษาพยาบาลที่ข้าราชการและบุคคลในครอบครัว เช่น …