สิทธิรักษาพยาบาล คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ที่รัฐบาลมอบให้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
สิทธิรักษาพยาบาลของไทยมีอะไรบ้าง
คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากภาครัฐ โดยมีระบบหลัก 3 ระบบ ดังนี้
- สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
- สิทธิประกันสังคม
- สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทรักษาทุกโรค/บัตรทอง)
สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ คือ
สิทธิรักษาพยาบาลที่ข้าราชการและบุคคลในครอบครัว เช่น บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับจากรัฐบาล
สิทธิประโยชน์ของสิทธิ มีดังนี้
- ผู้ป่วยนอก ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วนำมาเบิกทีหลัง
- ผู้ป่วยใน ไม่ต้องมีหนังสือรับรองไปยื่นก่อนเข้ารับการรักษา
ผู้มีสิทธิใช้บริการ ได้แก่
- ข้าราชการ
- พนักงานรัฐวิสาหกิจ
- ลูกจ้างประจำของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการ
- ผู้รับบำนาญ
- ลูกจ้างต่างประเทศที่ได้รับค่าจ้างแบบเงินงบประมาณรายจ่าย
- บุคคลในครอบครัว
สิทธิประกันสังคม คือ
ประกันสังคม เป็นระบบเพื่อดูแลผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย โดยผู้ใช้แรงงานที่ส่งเงินสมทบจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หากผู้ประกันตนออกจากงานหรือหยุดส่งเงินสมทบเป็นเวลา 6 เดือน สิทธิประกันสังคมของบุคคลนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นบัตรทองแทน
สิทธิของประกันสังคม กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ได้แก่
- รักษาพยาบาลฟรีที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- เบิกค่าจ้างที่ขาดหายไป 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยตามที่หยุดงาน ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วันภายใน 1 ปี ยกเว้นโรคเรื้อรัง จะได้ไม่เกิน 365 วัน
สิทธิของประกันสังคมกรณีพิการทุพพลภาพ ได้แก่
- ได้รับเงินทดแทนกรณีพิการทุพพลภาพ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิต สามารถเข้ารักษาในฐานะผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมด้วยความสนับสนุนในค่ารถพยาบาลและค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ
สิทธิของประกันสังคมกรณีเสียชีวิต ได้แก่
- กรณีเสียชีวิตจะได้ค่าทำศพ 50,000 บาท รวมถึงเงินสงเคราะห์กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป
ผู้มีสิทธิใช้บริการ ได้แก่
- ผู้ประกันตนตามภาคบังคับ หรือ มาตรา 33
คือ บุคคลที่เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างประจำ และมีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี
- ผู้ประกันตนตามสมัครใจ
คือ บุคคลทั่วไปที่ไม่เข้าเงื่อนไขบังคับของ พ.ร.บ. ประกันสังคม เพราะมีสิทธิอื่นอยู่แล้ว เช่น
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ออกจากงานแล้ว และต้องการแจ้งความต้องการเพื่อประกันตนต่อภายใน 6 เดือน รวมถึงเคยจ่ายเงินเข้ากองทุนสมทบมาก่อนตามมาตรา 33 ไม่น้อยกว่า 12 เดือน
- ผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ หรือเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งจะต้องมีอายุระหว่าง 15-65 ปี และได้แจ้งความต้องการขอประกันตน
- ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ รายวัน รายชั่วโมงของหน่วยงานราชการ แต่ไม่รวมลูกจ้างรายเดือน
- นักเรียน นิสิต นักศึกษา
- ครูโรงเรียนเอกชน
สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ
สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘บัตรทอง 30 บาท’ เป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐบาลไทยจัดให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเบื้องต้น
สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของสิทธิ มีดังนี้
- เข้ารับการตรวจวินิจฉัย
- เข้ารับการรักษาโรคทั่วไป
- เข้ารับการรักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคเฉพาะทาง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ไตวาย เป็นต้น
- เข้ารับบริการคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- การส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ
- ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ตามที่ระบุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่จะต้องจ่ายค่ารักษาและค่ายา 30 บาททุกครั้งหากเข้ารักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นไป (10 เตียงขึ้นไป)
ผู้มีสิทธิใช้บริการ ได้แก่
ครอบคลุมคนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิของข้าราชการ ประกันสังคม รัฐวิสาหกิจ ครูเอกชน หรือสิทธิอื่น ๆ ที่ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรัฐ
ข้อยกเว้นของความคุ้มครอง ได้แก่
- 1. เข้ารับบริการทางการแพทย์เพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- 2. การปลูกถ่ายอวัยวะที่อยู่นอกบัญชีหมายเลข 3
- 3. การตรวจวินิจฉัยหรือรักษาเกินจำเป็น
- 4. การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าหรือทดลอง
- 5. การบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ตามที่ สปสช. กำหนด
บุคคลหนึ่งมีสิทธิรักษาพยาบาลมากกว่าสิทธิเดียวได้หรือไม่
คนไทยสามารถมีสิทธิรักษาพยาบาลมากกว่า 1 สิทธิได้ โดยจะถูกแบ่งออกเป็น ‘สิทธิหลัก’ และ ‘สิทธิรอง’ โดยในบุคคลหนึ่งสามารถมีได้ทั้งสิทธิหลักและรอง หรือสิทธิหลักในบุคคลเดียวทั้ง 2 สิทธิ หรือสิทธิรองในบุคคลเดียวทั้ง 2 สิทธิก็ได้เช่นกัน
สิทธิหลัก หมายถึง สิทธิการรักษาพยาบาลที่บุคคลได้รับโดยตรงจากการทำงาน เมื่อสังกัดองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทั้งภายใต้รัฐและเอกชน
ส่วน สิทธิรอง หมายถึง สิทธิการรักษาพยาบาลที่บุคคลได้รับโดยอาศัยสิทธิหลักของบุคคลอื่น เช่น บุตรหรือคู่สมรสของข้าราชการจะมีสิทธิรองจากบิดามารดาหรือคู่สมรส
กรณีบุคคลที่มี สิทธิหลักสองสิทธิ หมายถึง บุคคลคนเดียวกันมีสิทธิการรักษาพยาบาลสิทธิหลักสองสิทธิ์ ในเวลาเดียวกัน เช่น ผู้ที่เป็นข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญ แล้วได้มีการไปสมัครงานหรือเคยทำงานเป็นพนักงานบริษัท และได้ส่งเงินสมทบในกองทุนประกันสังคม จะทำให้มีสิทธิทั้งสองสิทธิในคน ๆ เดียว และการเลือกใช้สิทธิใดจะขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นเอง
กรณีที่มี สิทธิหลักและสิทธิรองในบุคคลเดียวกัน หมายถึง บุคคลคนเดียวกันมีสิทธิการรักษาพยาบาลทั้ง สิทธิหลักและสิทธิรองในเวลาเดียวกัน เช่น บุคคลที่เป็นข้าราชการและมีคู่สมรสที่มีสิทธิของรัฐวิสาหกิจหรือประกันสังคม ทั้งนี้ทั้นนั้น การใช้สิทธิการรักษาจะต้องใช้สิทธิหลักของตนเองก่อน แล้วถ้าหากว่าสิทธิรองครอบคลุมค่าใช้จ่ายมากกว่า สามารถนำใบเสร็จไปเบิกส่วนต่างที่จ่ายไปก่อนหน้ากับสิทธิรองทีหลังได้
กรณีบุคคลที่มี สิทธิรองในคนเดียวกันสองสิทธิ หมายถึง บุคคลคนเดียวกันมีสิทธิรองจากสิทธิหลักของบุคคลอื่นสองสิทธิ์ในเวลาเดียวกัน กรณีนี้คือบุตรที่ได้รับสิทธิรองจากบิดามารดาเป็นสองสิทธิในคนเดียว แต่เมื่อบุตรอายุครบ 20 ปีและยังไม่ได้มีการทำงาน สิทธิหลักจะถูกเปลี่ยนเป็นบัตรทองแทน ตามที่ระบุไว้ในระเบียบ พ.ร.บ. ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545
สรุป
สิทธิรักษาพยาบาลหลัก 3 ระบบของไทยมีเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีรายได้และอาชีพแตกต่างกัน รวมถึงยังมีความคุ้มครองครอบคลุมไปยังบุคคลในครอบครัวด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมเช็คสิทธิหลักและสิทธิรองของตัวเองก่อนใช้สิทธิรักษาพยาบาล เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาหรือเสียสิทธิความคุ้มครองที่มี