ประกันสุขภาพมี 2 แบบ
- ประกันสุขภาพกลุ่ม
- ประกันสุขภาพส่วนบุคคล
และยังสามารถมี สัญญาเพิ่มเติม เช่น
- สัญญาเพิ่มเติมประกันชดเชยรายได้
- สัญญาเพิ่มเติมประกันโรคร้าย
นอกจากการดูแลใส่ใจสุขภาพร่างกายของตนเองแล้ว การมี “ประกันสุขภาพ” ติดตัวไว้สักฉบับก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ด้วยยุคนี้ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมีเยอะมาก บวกกับค่ารักษาพยาบาลแต่ละครั้งก็หนักใช่เล่น อย่างน้อยที่สุดประกันตัวนี้จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาเรื่องค่าใช้จ่ายแบบไม่ต้องกังวลใจ แต่คงมีหลายคนยังสงสัยอยู่พอสมควรว่าสรุปแล้วประกันสุขภาพมีกี่แบบ? ควรเลือกแบบไหนให้เหมาะกับตนเองมากที่สุด มาหาข้อมูลกันเลย
ประกันสุขภาพ คืออะไร?
ประกันสุขภาพคือ หนึ่งในรูปแบบของการประกันภัยโดยบริษัทประกันจะให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์เมื่อผู้เอาประกันภัยเกิดการเจ็บป่วยและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย แค่พบแพทย์ รับยา กายภาพบำบัด การเจ็บป่วยหนักต้องพักรักษาตัวนอนในโรงพยาบาล หรือแม้แต่ได้รับบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุ
ประกันสุขภาพมีกี่แบบ?
ก่อนจะตัดสินใจว่าควรเลือกซื้อประกันสุขภาพแบบไหนดี ก็ควรต้องรู้ว่าประกันสุขภาพมีกี่แบบ ซึ่งปัจจุบันจะสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบหลัก ๆ ดังนี้
1. ประกันสุขภาพกลุ่ม (Group Health Insurance)
ประกันสุขภาพกลุ่ม คือ รูปแบบของประกันที่ให้ความคุ้มครองด้านค่ารักษาพยาบาลด้านสุขภาพกับคนกลุ่มใหญ่ ส่วนมากองค์กรมักซื้อเอาไว้เพื่อเป็นสวัสดิการกับพนักงาน หรือเป็นหลักประกันเบื้องต้นหากเจ็บป่วยก็สามารถรักษาได้ตามวงเงินและรายละเอียดที่ระบุไว้ การซื้อจะถูกซื้อในกรมธรรม์เดียวครอบคลุมทุกคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรดังกล่าว อย่างไรก็ตามลักษณะการคุ้มครองอาจแตกต่างออกไป เช่น ลักษณะของโรค วงเงินที่สามารถใช้ได้ การสำรองจ่าย เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อดีของประกันสุขภาพกลุ่มจะมีอัตราเบี้ยประกันเฉลี่ยต่อคนถูกมากเพราะใช้วิธีคำนวณแบบอัตราเดียวเหมารวม
2. ประกันสุขภาพส่วนบุคคล (Individual Health Insurance)
หรือในแวดวงการประกันภัยมักเรียกว่า “ประกันรายเดี่ยว” จะเป็นลักษณะของประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองกับบุคคลเพียงผู้เดียวซึ่งถูกระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ชัดเจน เลือกประเภท ลักษณะความคุ้มครอง จำนวนวงเงินคุ้มครอง ความเสี่ยง และอื่น ๆ ได้ตามที่ผู้ซื้อต้องการ จุดเด่นสำคัญต้องยกให้กับความครอบคลุมที่จะคุ้มครองผู้เอาประกัน มีอิสระเลือกได้เต็มที่ตามงบที่ตนเองมี อัตราเบี้ยประกันมักมีการนำอายุและเพศมาเป็นตัวคำนวณด้วย เช่น หากอายุยังน้อยอัตราเบี้ยจะต่ำกว่าคนอายุมากหากเทียบกับการซื้อรูปแบบความคุ้มครองเดียวกันทั้งหมด ที่สำคัญยังสามารถนำไปใช้เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย (ไม่เกิน 25,000 บาท) เป็นรูปแบบประกันสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ประกันสุขภาพส่วนบุคคลยังสามารถแยกย่อยเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 ประกันสุขภาพเหมาจ่าย
การให้ความคุ้มครองผู้เอาแก่ประกันภัยด้านค่ารักษาพยาบาลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บใด ๆ ก็ตามในลักษณะของการกำหนดวงเงินรวมต่อปีกรมธรรม์ หรือต่อครั้งเอาไว้ชัดเจน เช่น เหมาะจ่ายไม่เกินปีละ 5 ล้านบาท เหมาะจ่ายไม่เกินครั้งละ 200,000 บาท เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่วงเงินดังกล่าวก็มักครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
2.2 ประกันสุขภาพแยกค่าใช้จ่าย
การให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยที่ถูกกำหนดไว้ในแต่ละเรื่อง เช่น ค่าห้องพัก ค่าทำหัตถการ ค่าวิสัญญีแพทย์ ค่าตรวจเยี่ยมอาการของแพทย์ เป็นต้น โดยผู้ซื้อประกันสามารถเลือกแผนประกันได้ตามงบหรือตามการคาดเดาด้านสุขภาพของตนเอง เช่น เลือกความคุ้มครองค่าห้องพักไม่เกิน 3,000 บาท ค่าเบี้ยประกันก็จะถูกกว่าการเลือกความคุ้มครองค่าห้องพัก 5,000 บาท และกรณีต้องเข้าพักรักษาตัวจริง หากค่าใช้จ่ายเกินจากวงเงินคุ้มครองที่กำหนดผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเพิ่มเติมด้วยตนเอง
2.3 ประกันอุบัติเหตุ
การให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลอันมีสาเหตุจากอุบัติเหตุทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นมีดบาด ตกบันได รถชน สัตว์มีพิษกัดต่อย แมวข่วน สุนัขกัด ลื่นล้ม และอื่น ๆ ซึ่งวงเงินค่ารักษาจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ (ลักษณะความคุ้มครองไม่ต่างจากการซื้อประกันอุบัติเหตุ หรือ PA ทั่วไป)
สัญญาเพิ่มเติมหรือแนบท้ายสัญญาเพื่อรับผลประโยชน์เพิ่มเติม
อย่างที่ทุกคนรู้กันไม่ว่าจะซื้อประกันสุขภาพแบบไหนดีก็ตาม ความคุ้มครองพื้นฐานก็มีทั้งการรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก (Out-patient department หรือ OPD) เช่น การตรวจรักษาจากแพทย์ เอกซเรย์ กายภาพบำบัด ฉีดยา ให้ยาทาน การทำแผล และการรักษาตัวแบบผู้ป่วยใน (In-patient department หรือ IPD) หมายถึง ต้องมีการนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 วัน
แต่อีกสิ่งที่คนขายประกันมักเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ครอบคลุมแบบครบวงจรจะมีสิ่งที่เรียกว่า “สัญญาเพิ่มเติม” หรือ “แนบท้ายสัญญา” ซึ่งส่วนใหญ่มักแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประกันชดเชยรายได้ และ ประกันโรคร้าย
1. สัญญาเพิ่มเติมประกันชดเชยรายได้ (Hospital Income protection หรือ HIP)
คือ ลักษณะสัญญาเพิ่มเติมที่จะให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับเงินรายได้ที่ต้องสูญเสียไประหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่าง ๆ โดยไม่สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ วงเงินความคุ้มครองจะคำนวณเป็นรายวันตามจำนวนวันที่พักรักษาตัวจริงแต่ไม่เกินจำนวนวันสูงสุดที่กำหนดไว้ ยิ่งค่าชดเชยสูง เบี้ยประกันก็จะสูงตามด้วย ประกันชดเชยรายได้นี้เหมาะกับคนที่ทำงานประจำ รวมถึงทำงานอิสระ งานฟรีแลนซ์หากต้องนอนพักในโรงพยาบาลแล้วรายได้หลักหายไปก็ยังมีเงินส่วนดังกล่าวชดเชยให้
2. สัญญาเพิ่มเติมประกันโรคร้าย (Critical illness Rider)
คือ ลักษณะสัญญาเพิ่มเติมที่จะให้ความคุ้มครองในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเกิดโรคร้ายขึ้นกับตนเองตามเงื่อนไขที่กรมธรรม์ระบุเอาไว้ มีทั้งการให้แบบเจอ จ่าย จบ หมายถึง จ่ายครั้งเดียวตามวงเงินที่ระบุเอาไว้แล้วกรมธรรม์ดังกล่าวถือว่าสิ้นสุดทันที และการจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุกครั้งเมื่อต้องเข้ารักษาตัวจากโรคดังกล่าวจนกว่าจะครบวงเงินที่กำหนด รวมถึงการทุพพลภาพหรือเสียชีวิตจากโรค
ซึ่งโรคร้ายที่มักถูกจัดอยู่ในประกันดังกล่าว เช่น มะเร็ง ไตวาย ตับวาย กล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นต้น สังเกตว่าโรคเหล่านี้ลำพังแค่วงเงินคุ้มครองจากกรมธรรม์สุขภาพทั่วไปอาจไม่เพียงพอ เพราะมีการรักษาต่อเนื่อง ยาวนาน หรืออาจจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อดูแลตนเอง เงินสำหรับดูแลคนข้างหลังกรณีเสียชีวิตจากโรคนั้น ๆ ทั้งนี้ประกันโรคร้ายจะเหมาะกับคนที่ประเมินแล้วว่าตนเองมีความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคที่ระบุไว้ในรายละเอียดกรมธรรม์ สาเหตุอาจเป็นได้ทั้งจากกรรมพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต
ซื้อประกันสุขภาพแบบไหนดีให้ตอบโจทย์มากที่สุด
เมื่อรู้กันครบถ้วนแล้วว่าประกันสุขภาพมีกี่แบบ แต่ละแบบเป็นยังไงบ้าง ก็มาถึงอีกคำถามที่ยังมีข้อสงสัยสรุปแล้วควรซื้อประกันสุขภาพแบบไหนดีให้ตอบโจทย์กับตนเองมากที่สุด หลัก ๆ ก็ต้องประเมินจากเงื่อนไขดังนี้เลย
1. งบประมาณที่เหมาะสมในการจ่ายเบี้ยประกัน
อย่างที่รู้ว่ายิ่งวงเงินคุ้มครองสูง ค่าเบี้ยประกันย่อมแพงตามไปด้วย สิ่งแรกจึงต้องประเมินจากงบที่เหมาะสมในการจ่ายค่าเบี้ยแต่ละปีว่าไหวมากน้อยแค่ไหน เพราะการซื้อประกันสุขภาพเป็นวิธีรับมือในกรณีเกิดโรคหรือเกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้ใช้ หากซื้อแพงเกินไปก็อาจไม่คุ้มค่านัก
2. ความเสี่ยงในการเกิดโรคของตนเอง
ลองประเมินสุขภาพร่างกาย เช็กประวัติพันธุกรรมหรือกรรมพันธุ์ของคนในครอบครัวว่ามีใครเคยป่วยด้วยโรคอะไรบ้าง สังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหาร เครื่องดื่มที่ทานแต่ละวัน สภาพแวดล้อม การออกกำลังกาย ความเครียด ฯลฯ
3. เงินชดเชยเมื่อขาดรายได้
หากคุณไม่ได้เดือดร้อนว่าต้องมีเงินเข้าระหว่างพักรักษาตัว ประกันชดเชยรายได้ก็อาจไม่ต้องทำ แต่ถ้าใครมองแล้วว่าเงินส่วนนี้จะช่วยให้ตนเองนำไปใช้อย่างอื่นเพิ่มเติม หรือเอาไว้ใช้ค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินจากวงเงินคุ้มครองปกติจะทำไว้ก็ไม่เสียหาย
สรุป
ประกันสุขภาพยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนรับมือกับโรค อาการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอในช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน แต่การจะเลือกซื้อนอกจากประเมินให้เหมาะกับตนเองแล้วยังต้องใส่ใจเรื่องของรายละเอียดความคุ้มครองต่าง ๆ ซื้อกับบริษัทที่น่าเชื่อถือ เพียงเท่านี้แม้คุณต้องเจ็บป่วยและรักษาตัวกับโรงพยาบาลในทุกกรณีอย่างน้อยที่สุดก็เบาใจเรื่องเงินทองได้เลยหากทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ระบุไว้