นิ้วล็อค เป็นอาการที่นิ้วไม่สามารถเหยียด หรือไม่สามารถงอกลับมาได้อย่างปกติ และสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย ยิ่งในปัจจุบันผู้คนต้องติดต่อสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน รวมไปถึงอิทธิพลการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) หรือการเรียนออนไลน์ที่ต้องติดต่อสื่อสารผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้ผู้คนมีแนวโน้มเกิดอาการบาดเจ็บดังกล่าวสูงขึ้นด้วย
นิ้วล็อค เกิดจากอะไร
นิ้วล็อคเกิดจากการที่เส้นเอ็นหรือปลอกหุ้มเอ็นของนิ้วมือ มีอาการอักเสบหรือบวม ส่งผลให้เส้นเอ็นประสาทและปลอกหุ้มของนิ้วมืออยู่ในภาวะไม่สมดุลกัน โดยเส้นเอ็นประสาทไม่สามารถเคลื่อนที่เข้าปลอกหุ้มเอ็นได้ ซี่งปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดอาการอักเสบเส้นเอ็นของนิ้วมือ ได้แก่
การทำงาน
อาชีพที่ใช้งานนิ้วอย่างหนัก มีแนวโน้มที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บดังกล่าวได้ง่ายมากขึ้น เช่น แม่บ้าน นักดนตรี คนทำสวน นักกีฬา หรือพนักงานออฟฟิศ
โรคประจำตัว
นิ้วล็อคสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ วัณโรค โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) และโรคไฮโปไทรอยด์ รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 40 – 60 ปี จะมีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บดังกล่าวได้ง่ายขึ้น
รูปแบบการใช้ชีวิต
แต่ละคนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นอาการนิ้วล็อคจึงสามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนทุกวัย โดยหนึ่งในพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่ออาการนิ้วล็อค คือการใช้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อติดต่อกันมากขึ้น เช่น การรับ – ส่งข้อความผ่านสมาร์ทโฟน ที่ส่งผลให้นิ้วมือถูกใช้งานหนักมากขึ้น
อาการนิ้วล็อคเป็นอย่างไรบ้าง
อาการของนิ้วล็อคจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่ความรุนแรงของอาการ ซึ่งสามารถอธิบายอาการที่พบบ่อยของนิ้วล็อคได้ ดังนี้
- รู้สึกเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือหรือนิ้วโป้ง และรู้สึกว่าขยับส่วนดังกล่าวได้ยากขึ้น
- งอนิ้วมือแล้วพบว่ามีอาการสะดุด มีเสียงกรอบแกรบขณะที่ขยับนิ้วมือ
- พบก้อนตามฐานนิ้วมือและนิ้วหัวแม่มือ
- นิ้วมืองอได้ยากขึ้น เหยียดไม่ออก และไม่สามารถขยับนิ้วได้
แนวทางป้องกันอาการนิ้วล็อค
สำหรับการป้องกันการเกิดนิ้วล็อคสามารถทำได้หลายวิธี สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการทำพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการใช้งานของนิ้วหนักมากขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดของอาการบาดเจ็บได้ภายในอนาคต ดังนี้
จำกัดชั่วโมงการใช้งานสมาร์ทโฟน และหลีกเลี่ยงการพิมพ์ข้อความบนสมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานาน แต่เปลี่ยนเป็นการสื่อสารผ่านทางเสียง หรือเปลี่ยนมาสื่อสารผ่านการโทรแทน
ถ้าหากเริ่มมีอาการปวดตึงข้อมือหรือนิ้วมือ ให้จุ่มมือลงไปในน้ำอุ่นเป็นระยะเวลา 5 – 10 นาที เพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วมือที่ถูกใช้งานหนัก
ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น ซ้อมดนตรีที่ใช้นิ้วในระยะเวลาที่เหมาะสม หากทำกิจกรรมเป็นระยะเวลานาน ในระหว่างพักควรมีการบริหารข้อมือและนิ้วมือ
ลดการทำงานที่ส่งผลต่อการใช้นิ้วมือและข้อมือ
นิ้วล็อค รักษาอย่างไรบ้าง
วิธีการรักษานิ้วล็อค สามารถทำได้ด้วยการบรรเทาอาการเบื้องต้นและรักษาด้วยการผ่าตัด
การบรรเทาเบื้องต้น
การบรรเทาอาการบาดเจ็บเบื้องต้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- หากมีอาการบวม ปวด หรือติดเชื้อ ควรปรึกษาเภสัชเพื่อรับประทานยาให้ตรงกับอาการ
- พักกิจกรรมที่ใช้งานนิ้วหนัก
- สามารถประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
- หมั่นนวดบริหารนิ้วมือ
- หากรู้สึกปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ
รักษาได้ด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ การผ่าตัดแบบเปิดและการผ่าตัดแบบปิด
การผ่าตัดแบบเปิด : เป็นวิธีที่คนนิยมทำมากที่สุด โดยแพทย์จะฉีดยาชาเพื่อผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว จะใช้เวลาในการฟื้นตัวของนิ้วมือเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของความรวดเร็วในการการฟื้นตัวของผู้ป่วย
การผ่าตัดแบบปิด : แพทย์จะทำการสะกิดปลอกหุ้มเอ็นผ่านผิวหนัง สำหรับการผ่าตัดรูปแบบนี้จะมีความเสี่ยงต่อเส้นประสาทและเส้นเอ็นที่อยู่บริเวณข้างเคียง เมื่อผ่าตัดเสร็จจึงมีอาการปวดบริเวณที่ผ่าตัดและมีอาการชาปลายนิ้ว เมื่อการผ่าตัดดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปทำกิจกรรมที่ใช้งานนิ้วมือได้ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
นิ้วล็อคเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ไม่ว่าจะวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน หรือวัยสูงอายุ โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดอาการอักเสบเส้นเอ็นของนิ้วมือ ได้แก่ การทำงาน โรคประจำตัว หรือรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละบุคคล ดังนั้นการทราบถึงวิธีการป้องกันนิ้วล็อค จะช่วยลดอาการบาดเจ็บนิ้วมือได้เบื้องต้น ลองหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ หมั่นดูแลสุขภาพของนิ้วและข้อมือให้มีสุขภาพดี เพราะนิ้วและข้อมือมีความสำคัญไม่ต่างจากการดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ ภายในร่างกาย และหากรู้สึกปวดนิ้วมือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นิ้วมือมีอาการบวม หรืออักเสบ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรักษาอาการดังกล่าว