โรคไตป้องกันได้ แค่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์

การดูแลรักษาไตให้แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ก็ท้าทายในเวลาเดียวกัน ไตเป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่ทำงานควบคู่กับอวัยวะอื่นๆ เพื่อให้เรามีสุขภาพแข็งแรง หน้าที่หลักของไต ได้แก่ รักษาสมดุลของน้ำและแร่ธาตุในเลือดให้เหมาะสม และกำจัดของเสียออกจากเลือดหลังการย่อยอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อ และการรับสารเคมีหรือยา ตลอดจนควบคุมความดันโลหิต และกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงผ่านการผลิตฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน นอกจากนี้ไตยังช่วยในการผลิตวิตามินดีที่อยู่ในรูปแบบพร้อมใช้งานซึ่งจำเป็นต่อกระดูกอีกด้วย

เพราะไตเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงานในร่างกายที่สำคัญหลายระบบ เราจึงจำเป็นที่จะต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคไต เนื่องจากโรคไตสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากมาย โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสะสมของของเสียและของเหลว การกักเก็บของเหลวและของเสียในร่างกายอาจทำให้เกิดอาการบวมที่ข้อเท้า หายใจลำบาก เพ้อ อาการชัก รวมถึงจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ (ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ)

โรคไต

โรคไตคืออะไร?

โรคไตส่งผลต่อความสามารถของร่างกายในการขับของเสียและกรองน้ำส่วนเกินออกจากเลือด ซึ่งจะช่วยควบคุมความดันโลหิต นอกจากนี้ โรคไตยังส่งผลต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงและการเผาผลาญวิตามินดี ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จำเป็นต่อกระดูก โรคไตแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การบาดเจ็บที่ไตเฉียบพลัน และโรคไตเรื้อรัง สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ไตเฉียบพลัน ได้แก่ เลือดไหลเวียนไปที่ไตลดลง ไตได้รับความเสียหายโดยตรง และมีการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งนำไปสู่การกักเก็บของเหลวในไต ทำให้เกิดความเสียหายและบวม

สาเหตุของการบาดเจ็บที่ไตพลันนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ สาเหตุนอกไต สาเหตุภายในไต และสาเหตุหลังไต

  1. 1. การบาดเจ็บที่ไตเฉียบพลันซึ่งเป็นผลมาจากสาเหตุอื่นนอกไต

สาเหตุอื่นนอกไต (ก่อนถึงไต) คือภาวะที่มักส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปที่ไตลดลง ซึ่งรวมถึงภาวะที่เสียเลือดมากเกินไป อวัยวะมีรูพรุน การอาเจียนบ่อยครั้ง ท้องเสีย เหงื่อออกมากเกินไป และการผ่าหลอดเลือดแดง

  1. 2. การบาดเจ็บที่ไตเฉียบพลันซึ่งเป็นผลมาจากสาเหตุภายในไต

สาเหตุภายในไต หมายถึง สาเหตุที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายภายในตัวไตเอง เช่น การรับประทานยาบางชนิดที่เป็นพิษต่อไตเป็นเวลานาน (ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) โรคไตอักเสบ (การอักเสบของโกลเมอรูลัสหรือกระจุกหลอดเลือดฝอยในไต) โรคหลอดเลือดอักเสบ (การอักเสบของหลอดเลือด) และโรคทางระบบอื่น ๆ เช่น มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา และ Henoch–Schönlein purpura (โรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ)

  1. 3. การบาดเจ็บที่ไตเฉียบพลันซึ่งเป็นผลมาจากสาเหตุหลังไต

สาเหตุหลังไต เกิดจากการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะที่อยู่ถัดไปจากไต ส่งผลให้ไตมีความสามารถในการทำงานลดลง ซึ่งรวมถึงภาวะต่อมลูกหมากโต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ การตั้งครรภ์ นิ่วในท่อไตและโครงสร้างของท่อไต

โรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง หมายถึงภาวะที่ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติในระยะ 3 เดือนขึ้นไป โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคไตเรื้อรังคือ โรคเบาหวานชนิด 1 และชนิด 2 และความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้ไตเสียหายไปเรื่อยๆ ในขณะที่ความดันโลหิตสูงจะค่อยๆ สร้างรอยแตกบนเส้นเลือดและทำให้เส้นเลือดเสื่อมสภาพลง รวมถึงเส้นเลือดที่เชื่อมต่อไปที่ไตด้วย

นอกจากนี้ ยังพบสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ไอบูโพรเฟนและนาโพรเซน (ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) และการสัมผัสกับสารเคมีบางชนิดเป็นเวลานาน รวมถึงความพิการแต่กำเนิดที่อาจทำให้เกิดการอุดตันในทางเดินปัสสาวะซึ่งส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรังในทารก

การป้องกันโรคไต

คุณสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไตได้ หากปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมถึงการรักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังขยับร่างกาย ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และลดการซื้อยาจากร้านขายมารับประทานเองบ่อยๆ

 

โรคไต

ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

เมื่อพูดถึงการรักษาร่างกายให้ฟิตอยู่เสมอ การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความดันโลหิต และช่วยป้องกันโรคไตเรื้อรังได้ ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิครวมกันอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

รักษาระดับน้ำตาลในเลือด

รักษาระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นโรคเบาหวาน การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไปอาจทำให้ไตถูกทำลายได้ จึงควรควบคุมอาหารการกิน รับประทานยา และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ

หมั่นตรวจเช็คความดันโลหิต

เช่นเดียวกับการระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำก็มีความสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าความดันโลหิตจะไม่เกินระดับที่แนะนำ ซึ่งปกติอยู่ที่ 120/80 ความดันโลหิตที่สูงอยู่เรื่อยๆ สามารถทำให้ไตเสียหายได้เช่นกัน

กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

การดื่มน้ำให้เพียงพอและการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพสามารถป้องกันโรคไตเรื้อรังได้ ตัวอย่างการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การอบหรือย่างอาหารแทนการทอด และการรับประทานอาหารที่ทำจากธัญพืชไม่ขัดสี เช่น โฮลวีตและข้าวกล้อง และกินอาหารว่างทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ถั่วหรือเมล็ดพืช คำนึงถึงสิ่งที่คุณกินอยู่เสมอ โดยการจดบันทึกการกินอาหารในแต่ละวัน

ลดการกินยาและสูบบุหรี่

หลีกเลี่ยงการกินยาที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์เป็นประจำ เช่น ไอบูโพรเฟน เนื่องจากการกินยาเหล่านี้บ่อยๆ อาจทำให้ไตถูกทำลายได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาอาการปวดเรื้อรังด้วยวิธีอื่นแทนการรับประทานยา นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เนื่องจากจะทำให้เลือดไหลเวียนไปยังไตช้าลง มีผลทำให้ความสามารถในการทำงานของไตลดลง

โรคไต

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพไตที่ดี

ไลฟ์สไตล์หรือรูปแบบการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราปรับเปลี่ยนได้และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการป้องกันความเสี่ยงต่อโรคไต รูปแบบการใช้ชีวิตขึ้นอยู่กับการเลือกสิ่งที่คุณจะกินและเลือกกิจกรรมที่ทำเพื่อดูแลรักษาร่างกาย ดังนั้นการเลือกกิจวัตรประจำวันที่ถูกต้องจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันโรคไต

ลดการกินเนื้อแดง

จากการศึกษาในประเทศสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ผู้ที่บริโภคเนื้อแดงในปริมาณมากมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไตวายสูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคเนื้อแดงในปริมาณน้อยจากเนื้อสัตว์ชนิดเดียวกัน และการศึกษาเดียวกันนี้ยังสรุปว่า ควรรับประทานเนื้อแดงในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อป้องกันโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

ลดการบริโภคน้ำตาล

ลดปริมาณน้ำตาลและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารขยะ เนื่องจากน้ำตาลซึ่งมักอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป อาจทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลและค่าของเลือดเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หากบริโภคอย่างละเลย การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานแต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนการเหล่านี้ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการทำงานของไตลดลง และการรับประทานอาหารขยะที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง และแคลอรี่สูง ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อไตและโรคเบาหวานในระยะยาวได้เช่นกัน

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับให้เพียงพอในแต่ละวันเป็นอีกวิธีหนึ่งนอกเหนือไปจากการควบคุมอาหาร ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันโรคไตเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆ อีกมากมาย ในทางตรงกันข้าม การนอนน้อยอาจทำให้การทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจังหวะการทำงานของร่างกายตามธรรมชาติในแต่ละวันขึ้นอยู่กับวงจรการนอนหลับและตื่นตามปกติ หากวงจรธรรมชาตินี้หยุดชะงัก การทำงานของไตก็จะลดลง เราจึงควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 7 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรคไตด้วย

เพิ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย

ชีวิตประจำวันที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ไตถูกทำลายและภาวะหัวใจหยุดเต้นเนื่องจากความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงจะค่อยๆ ทำลายไตและหัวใจ และยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาอีกด้วย วิธีที่ดีที่สุดในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ก็คือเพิ่มกิจรรมการเคลื่อนไหวให้มากขึ้น สร้างนิสัยเดินเร็ว ฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย หรือแม้แต่เต้น (ซุมบา) ​​เป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายรูปแบบนี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและระดับออกซิเจนในร่างกาย การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อย 30 นาทีสามารถช่วยเผาผลาญไขมันและลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งจะช่วยป้องกันโรคไตได้อีกด้วย

เมื่อใดก็ตามที่ไตได้รับความเสียหายแล้ว จะไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป แต่ถึงเราจะไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ การเลือกกิจวัตรประจำวันที่ดีก็มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ไตของเราถูกทำลายได้เช่นกัน 

การทำประกันสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย และร่างกายยังแข็งแรง สามารถช่วยลดภาระการเงิน และ มอบการรักษาได้เต็มที่ หากในอนาคตได้มีการเจ็บป่วยขึ้นมา จึงแนะนำให้มีประกันสุขภาพติดตัวไว้ เพราะไม่มีทางรู้ว่าอนาคตจะเจออะไรบ้าง 

*บทความนี้แปลจากต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับการตรวจสอบทางการแพทย์โดยทีมแพทย์ภายในของ LUMA

Last update: 

Table of Contents

ใบอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เลขที่ 0105555036794

ใบอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัย เลขที่00008/2555  

ใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย เลขที่ ช00012/2564

BOI logo

ได้รับการรับรองจาก BOI 2927/2555

บริษัท ลูม่า แคร์ จำกัด, 57 ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ชั้น 9 ยูนิต 912 ถนนวิภาวดี แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10330

Copyright © 2024 lumahealth.com. All Rights Reserved.   นโยบายความเป็นส่วนตัว