โรคนอนไม่หลับ Insomnia ทำไมถึงรู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา?

คุณมีปัญหาในการนอนหลับทุกคืนหรือไม่? นอนพลิกตัวไปมาทั้งคืนเพื่อดูนาฬิกาที่เดินผ่านไป ถ้าใช่ คุณอาจกำลังประสปัญหาการนอนหลับ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย หรือที่เรียกว่า “โรคนอนไม่หลับ (insomnia)” และคุณไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหานี้ ความทรมานจากอาการนอนไม่หลับอาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดและเหนื่อยล้า บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการนอนไม่หลับ รวมถึงเทคนิคที่ช่วยคุณแก้ปัญหาโรคนอนไม่หลับด้วยตัวเอง

โรคนอนไม่หลับเป็นอย่างไร?

อาการนอนไม่หลับเป็นอาการที่ทำให้คนเรานอนหลับได้ยาก หรือไม่สามารถนอนหลับได้นานพอเพื่อให้รู้สึกสดชื่นในเช้าวันรุ่งขึ้น ผู้ที่เป็นโรคนี้จะพบว่าตนเองนอนไม่หลับแม้จะรู้สึกเหนื่อย ตื่นกลางดึกบ่อยๆ หรือมีปัญหาในการกลับมานอนหลับหลังตื่นระหว่างคืน มีคนหลายล้านที่ได้รับผลกระทบจากอาการนอนไม่หลับ แต่มีเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่ถึงกับต้องเข้ารับการรักษาจากโรคนี้

หากคุณประสบปัญหาการนอนหลับติดต่อกันอย่างน้อยหนึ่งเดือน หรือส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคุณ เหล่านี้เรียกว่าโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง และเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณควรไปพบแพทย์

โรคนอนไม่หลับ

อะไรคือสาเหตุของโรคนอนไม่หลับ?

วิถีชีวิตประจำวันอาจส่งผลต่อการนอนหลับและมีส่วนทำให้อาการนอนไม่หลับรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นคนที่ชอบดื่มกาแฟหรือชายามบ่าย หรือรู้สึกเครียดจากการทำงาน คุณก็อาจจะมีอาการนอนไม่หลับเป็นครั้งคราว รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น พฤติกรรมการนอนที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (เช่น เจ็ตแล็กและการทำงานเป็นกะ) ก็อาจส่งผลต่อการนอนได้เช่นกัน

หากคุณมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง แพทย์อาจทำการทดสอบต่อไปนี้เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่นความวิตกกังวล 

  • การตรวจร่างกาย: บางครั้งอาจมีการตรวจเลือดเพื่อตรวจหาปัญหาของต่อมไทรอยด์หรืออาการอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาการนอนหลับ โดยแพทย์จะพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น กิจวัตรประจำวันโดยทั่วไป รวมถึงการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
  • ทบทวนนิสัยการนอน: นิสัยการนอนที่ไม่ดีเป็นสาเหตุหลักของการนอนไม่หลับ แพทย์อาจให้คุณตอบแบบสอบถามเพื่อพิจารณารูปแบบการนอนและการตื่น และขอให้คุณจดบันทึกการนอนหลับเป็นเวลาสองสามสัปดาห์ ติดตามเวลาที่เข้านอนและตื่นนอน ใช้เวลานานแค่ไหนในการหลับ และจำนวนครั้งที่คุณตื่นในตอนกลางคืน จากนั้นดูว่าคุณสามารถปรับเปลี่ยนกิจวัตรของคุณเพื่อปรับปรุงการนอนหลับได้อย่างไร
  • การตรวจคุณภาพการนอนหลับ: หากไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนของปัญหาการนอนหลับได้ หรือมีสัญญาณของโรคการนอนหลับอื่นๆ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับหรือมีอาการขยับขาขณะหลับ ควรพักค้างคืนที่ศูนย์การนอนหลับเพื่อรับการทดสอบและติดตามการนอนหลับโดยผู้เชี่ยวชาญ การทดสอบอาจจะรวมถึงการติดตามกิจกรรมของร่างกายที่เกิดขึ้นขณะที่คุณหลับ เช่น คลื่นสมอง การหายใจ การเต้นของหัวใจ ดวงตา และการเคลื่อนไหวของร่างกาย
โรคนอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?

นอกจากผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น อารมณ์แปรปรวนและความเหนื่อยล้าแล้ว การอดนอนอย่างรุนแรงยังอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น:

  • ผิวแก่ขึ้น: เมื่อคุณนอนหลับไม่เพียงพอ ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอลออกมามากขึ้น และหากมีปริมาณที่มากเกินไป คอร์ติซอลสามารถทำลายคอลลาเจนของผิวหนัง ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวเรียบเนียนและยืดหยุ่น
  • เพิ่มความเสี่ยงของโรคและภาวะที่ผิดปกติอย่างอื่นของร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติด้านสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และสับสน 

การรักษาโรคนอนไม่หลับ

หากคุณมีอาการนอนไม่หลับเป็นครั้งคราว ให้ลองปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันเล็กๆ น้อยๆ เช่น:

  • เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา
  • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน นิโคติน แอลกอฮอล์ อาหารมื้อหนัก และไม่ควรออกกำลังกายสองสามชั่วโมงก่อนเข้านอน
  • ไม่ดูทีวีหรือเล่นโทรศัพท์ก่อนเข้านอน
  • ก่อนนอนให้เขียนสิ่งที่กังวลรวมถึงแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อช่วยให้คุณลืมความกังวลเหล่านี้จนถึงเช้า

หากคุณมีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง คุณอาจลองวิธีเหล่านี้ หรือควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

  • การบำบัด: ในบางกรณี การทำจิตบำบัดโดยการปรับพฤติกรรมหรือเปลี่ยนความคิด หรือ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ จิตบำบัดรูปแบบนี้มุ่งรักษาปัญหาด้วยการหลีกเลี่ยงความคิด อารมณ์ และรูปแบบพฤติกรรมเชิงลบที่อาจทำให้คุณนอนไม่หลับ มักเป็นวิธีการรักษาวิธีแรกที่แนะนำสำหรับโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง และอาจนำไปสู่การรักษาในระยะยาว
  • การใช้ยาที่สั่งโดยแพทย์เพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ: ยานอนหลับที่สั่งโดยแพทย์มักถือเป็นทางเลือกสุดท้าย และควรใช้ครั้งละสองสามวัน หรือครั้งละสองสามสัปดาห์เท่านั้น

*บทความนี้แปลจากต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับการตรวจสอบทางการแพทย์โดยทีมแพทย์ภายในของ LUMA

Last update: 

Table of Contents

ใบอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เลขที่ 0105555036794

ใบอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัย เลขที่00008/2555  

ใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย เลขที่ ช00012/2564

BOI logo

ได้รับการรับรองจาก BOI 2927/2555

บริษัท ลูม่า แคร์ จำกัด, 57 ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ชั้น 9 ยูนิต 912 ถนนวิภาวดี แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10330

Copyright © 2024 lumahealth.com. All Rights Reserved.   นโยบายความเป็นส่วนตัว