ปัจจุบันเราสามารถติดตามสุขภาพร่างกายด้วยเครื่องมือที่เรียบง่ายและรวดเร็วอย่างการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) จากน้ำหนักและส่วนสูง เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและไขมันที่สะสมเป็นเวลานานเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคร้ายแรงที่อาจนำไปสู่การจำกัดเสถียรภาพในการใช้ชีวิต ดังนั้นการติดตามสภาพร่างกายจึงเป็นการเตรียมรับมือกับโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ยังจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับข้อบ่งชี้ด้านสุขภาพอื่น ๆ ในการระบุปัญหาสุขภาพ ลูม่าจึงได้รวบรวมข้อมูลที่ควรทราบเกี่ยวกับ BMI เอาไว้ดังนี้
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) คืออะไร ใช้ทำอะไร?
BMI (Body Mass Index) หรือ ค่าดัชนีมวลกาย เป็นการคำนวณที่ใช้ศึกษาความสมดุลของมวลร่างกายโดยคำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูงที่นิยมใช้ในการสำรวจสุขภาพสำหรับผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถคำนวณได้ง่ายและรวดเร็ว BMI ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 และปัจจุบันค่าดัชนีมวลกายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือบ่งชี้ความเสี่ยงด้านสุขภาพ พิจารณาความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ จากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่ต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ร่างกายสมส่วน
เกณฑ์และการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
การคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สามารถคำนวณได้จากน้ำหนักตัวหน่วยกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเมตรยกกำลังสอง ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนัก 60 กิโลกรัม สูง 170 cm จะได้สมการดังนี้ 60/1.72= 20.8
หรือสามารถคำนวณด้วยโปรแกรมคำนวณค่าดัชนีมวล (BMI) จาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มีการจำแนกความเสี่ยงด้านสุขภาพออกเป็น 5 กลุ่มความเสี่ยง โดยเกณฑ์ดัชนีมวลกายในแต่ละกลุ่มมีการกำหนดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเกณฑ์ของค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนไทยที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปดังนี้เอาไว้ดังนี้
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) บอกอะไรเราบ้าง?
ค่าดัชนีมวลกายเป็นค่าที่ใช้เพื่อคาดคะเนความเสี่ยงด้านสุขภาพต่าง ๆ แต่ไม่ใช่ข้อบ่งชี้อาการของโรคใดโรคหนึ่ง จากเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หมายถึงบุคคลนั้น ๆมีร่างกายสมส่วน ความเสี่ยงด้านสุขภาพต่ำ แต่หากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 18.5 หรือสูงกว่า 22.9 สามารถคาดคะเนความเสี่ยงด้านสุขภาพต่าง ๆ ดังนี้
ความเสี่ยงด้านสุขภาพสำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 18.5
- ภาวะทุพโภชนาการ
- สูญเสียมวลกระดูก
- ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
- โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
ความเสี่ยงด้านสุขภาพสำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 22.9
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคข้อเข่าเสื่อม
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
สิ่งที่ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) บอกเราไม่ได้
ความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ พิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ของบุคคลนั้น ๆ ว่าต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ร่างกายสมส่วน แต่การคำนวณค่าดัชนีมวลกายคำนวณจากตัวเลขน้ำหนักและส่วนสูงเท่านั้น โดยที่ตัวเลขน้ำหนักที่นำไปคำนวณไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่าง มวลกล้ามเนื้อ ปริมาณไขมันในร่างกาย มวลกระดูก การคำนวณยังขาดการพิจารณาปัจจัยด้านสุขภาพเฉพาะบุคคลเช่น อายุ เพศ พฤติกรรม เชื้อชาติ และข้อบ่งชี้ของโรคบางโรค ตัวอย่างเช่น ระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ฯลฯ การคำนวณค่าดัชนีมวลกายจึงอาจไม่เหมาะกับนักกีฬา นักเพาะกาย และสตรีที่ตั้งครรภ์
ดังนั้นค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เป็นเพียงเครื่องมือสำรวจร่างกายเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องมือตรวจสุขภาพแต่อย่างใด และการสำรวจร่างกายด้วยค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ยังสามารถใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ ได้แก่
- Waist-to-Hip Ratio หรือ อัตราส่วนรอบเอวต่อสะโพก
- Waist-to-Height Ratio หรือ อัตราส่วนรอบเอวต่อส่วนสูง
- การวัดรอบเอว
- การวัดไขมันในร่างกาย
สัญญาณที่ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) กำลังบอกให้เราลดน้ำหนัก
จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ในประเทศที่ประชากรประสบภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนจำนวนมากมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประเทศที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำ ซึ่งค่าดัชนีมวลกายที่สูงกว่าเกณฑ์ร่างกายสมส่วนเป็นสัญญาณว่าร่างกายอยู่ในความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ฯลฯ ดังนั้นการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายด้วยค่าดัชนีมวลกาย (BMI) จึงเป็นสัญญาณสู่การวางแผนลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพ สำหรับการวางแผนลดน้ำหนักสามารถประกอบไปด้วย การปรับโภชนาการในมื้ออาหาร และการออกกำลังกายยกตัวอย่างเช่น
- การรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมตามธงโภชนาการของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- การควบคุมอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การทำ IF, Low-carb diet, Ketogenic Diet, และ การเน้นรับประทานอาหารจากพืช ฯลฯ
- การออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกายแบบ Weight Training การคาร์ดิโอแบบ LISS MISS HIIT และการเล่นกีฬา
อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายและการควบคุมอาหารควรคำนึงถึงสมรรถภาพทางร่างกายและโรคประจำตัว สำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ใช่เครื่องมือที่แม่นยำที่สุด แต่ในเบื้องต้นก็สามารถบอกภาวะร่างกายได้ ตั้งแต่ น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ร่างกายสมส่วน น้ำหนักเกินเกณฑ์ ไปจนถึง โรคอ้วน และค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สามารถบ่งบอกความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน การคำนวณค่าดัชนีมวลกายจึงสามารถพิจารณาร่วมกับการวางแผนลดน้ำหนักเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ และรักษารูปร่างให้สมส่วนสุขภาพดี