การมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบสำหรับหลายคนนั่นคือการมีลูกน้อยมาเติมเต็มความสุขของชีวิตพ่อแม่ ซึ่งปัจจุบันการคลอดบุตรแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มรู้ว่าฝ่ายหญิงมีครรภ์นั่นไปจนถึงวันคลอด ด้วยเหตุนี้ใครที่เป็นพนักงานบริษัท หรืออยู่ในสถานะผู้ประกันตนของ “ประกันสังคม” ก็สามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมคลอดบุตรได้ เป็นอีกช่องทางช่วยเซฟค่าใช้จ่ายได้อย่างดี แล้วสิทธิ์นี้จะมีอะไร เป็นแบบไหนบ้าง มาศึกษาข้อมูลกันได้เลย
ประกันสังคม คืออะไร
ประกันสังคม คือ รูปแบบของการออมเงินประเภทหนึ่งโดยรัฐบาลได้กำหนดขึ้นในลักษณะภาคบังคับ (สำหรับลูกจ้างองค์กร) เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตให้กับคนไทย เพิ่มความมั่นคงในด้านการใช้ชีวิต ผู้ที่เข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมต้องทำการจ่ายเงินเบี้ยประกัน หรือคำที่คุ้นเคยกันเรียกว่า “เงินสมทบ” ให้กองทุนประกันสังคมเป็นแบบรายเดือนแบ่งตามประเภทของตัวผู้ประกันตน ได้แก่
ผู้ประกันตนมาตรา 33
ผู้ประกันตนภาคบังคับสำหรับกลุ่มลูกจ้างองค์กรที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เช่น พนักงานบริษัท อายุระหว่าง 15-60 ปี เงื่อนไขคือ ลูกจ้างต้องจ่ายเงิน 5% ของเงินเดือนไม่เกิน 750 บาท ขณะที่นายจ้างก็จ่ายให้ในจำนวนเดียวกัน ส่วนรัฐบาลจ่ายอยู่ที่ 2.75% สิทธิประโยชน์ที่ได้ คือ เจ็บป่วย / อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
ผู้ประกันตนมาตรา 39
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจสำหรับกลุ่มบุคคลที่เคยทำงานให้กับองค์กรเอกชน ปัจจุบันลาออกเรียบร้อยแล้วแต่ยังต้องการรักษาสิทธิ์ของตนเองเอาไว้ มีเงื่อนไขคือต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่น้อยกว่า 12 เดือน ลาออกมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ จ่ายเงิน 432 บาท / เดือน เข้ากองทุน ส่วนรัฐบาลจ่ายเพิ่มให้อีกเดือนละ 120 บาท สิทธิประโยชน์ที่ได้ คือ เจ็บป่วย / อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ
ผู้ประกันตนมาตรา 40
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจสำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นลูกจ้างองค์กรเอกชน ไม่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าต้องเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ อายุตั้งแต่ 15-60 ปี มีตัวเลือกเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ คือ
- ทางเลือก 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท / เดือน มีสิทธิประโยชน์ เจ็บป่วย / อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
- ทางเลือก 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท / เดือน มีสิทธิประโยชน์ เจ็บป่วย / อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ
- ทางเลือก 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท / เดือน มีสิทธิประโยชน์ เจ็บป่วย / อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร
สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมในการคลอดบุตร
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นประกันสังคมคลอดบุตร สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ทุกคน (โดยเฉพาะคุณแม่) ที่กำลังจะคลอดเจ้าตัวน้อยออกมาควรรู้นั่นคือสิทธิประโยชน์ของการคลอดบุตรที่ตนเองพึงได้รับในฐานะของผู้ประกันตน ลองมาศึกษาข้อมูลกันอย่างละเอียดได้เลย
สิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรประกันสังคม
ในการคลอดบุตรคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในสถานะผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าคลอดจากประกันสังคมได้ครั้งละ 15,000 บาท แบบไม่จำกัดจำนวน (คลอดลูกกี่คนก็ได้รับทุกคน) แต่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ขณะที่คุณแม่ยังจะได้เงินขาดรายได้จากการหยุดงานสำหรับคลอดบุตรอีก 50% ของรายได้ (ค่าจ้าง) ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกินปีละ 2 ครั้ง
เงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรประกันสังคม
จะเห็นว่าในการคลอดบุตรแต่ละครั้งทางประกันสังคมเองก็ให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสำหรับคนที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ด้านประกันคลอดบุตรนี้คุณพ่อหรือคุณแม่ต้องมีการจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5 เดือน และภายใน 15 เดือน ก่อนคลอด ไม่เช่นนั้นถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขและไม่ได้รับเงินดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้หากสถานะผู้ประกันตนสิ้นสุดก็ยังสามารถใช้สิทธิ์ดังกล่าวต่ออีก 6 เดือน และถ้าคุณแม่สามารถกลับมาทำงานได้ก่อน 90 วัน ก็ยังคงได้รับเงินจากสิทธิ์การหยุดงานคลอดบุตรเหมือนเดิม
เอกสารยื่นรับสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรประกันสังคม
นี่คืออีกสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ที่ใช้สิทธิ์ประกันสังคมคลอดบุตร เพราะถ้าคุณเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนจะช่วยให้ขั้นตอนต่าง ๆ สะดวก รวดเร็ว ได้รับเงินทันใจยิ่งกว่าเดิม ไม่ต้องเสียเวลาหลายรอบ ซึ่งเอกสารจำเป็นในการยื่นรับสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรประกันสังคม มีดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (เอกสาร สปส. 2-01) ผู้ใดเป็นคนขอให้กรอกข้อมูลส่วนตัวครบถ้วนทุกช่อง พร้อมลงลายมือชื่อตนเอง
- บัตรประชาชนตัวจริง
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (หากเป็นลูกแฝดก็ใช้สำเนาสูติบัตรของคู่แฝด)
- กรณีเป็นฝ่ายชายยื่นของรับสิทธิหากจดทะเบียนต้องมีสำเนาทะเบียนสมรส แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนต้องแนบหนังสือรับรองตัวผู้ประกันตนแทน
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หน้าแรก โดยต้องเห็นชื่อ-สกุล เลขบัญชี และชื่อธนาคาร ซึ่งธนาคารที่ให้บริการ ประกอบด้วย
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
- หากเป็นผู้ประกันตนต่างชาติต้องมีสำเนาบัตรประกันสังคม และสำเนาหนังสือเดินทาง (หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคลออกโดยหน่วยงานราชการ) อย่างใดอย่างหนึ่ง 1 ฉบับ
ปล. เอกสารกลุ่มสำเนาต้องมีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องทั้งหมด หากเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบเอกสารตัวจริงต้องมียื่นแสดงให้ และหากเอกสารบางอย่างที่มีความสำคัญต่องการพิจารณาจ่ายเงินเป็นภาษาต่างประเทศต้องแปลเป็นภาษาไทยพร้อมรับรองความถูกต้อง
สถานที่สำหรับยื่นรับสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรประกันสังคม
คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรกับทางประกันสังคม สามารถนำเอกสารทั้งหมดไปดำเนินการได้ที่ “สำนักงานประกันสังคม” ทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่บริเวณกระทรวงสาธารณสุข) หากสะดวกที่ไหนก็ทำตามขั้นตอนที่กำหนดเพื่อรับผลประโยชน์ของตนเองได้เลยทุกวันจันทร์ – ศุกร์ (ไม่นับวันหยุดราชการ) เวลา 08.00 – 16.30 น.
หรือถ้าไม่สะดวกเดินทางจะขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้เช่นกัน โดยส่งเอกสารทั้งหมดจ่าหน้าซองผู้รับว่า “ฝ่ายสิทธิประโยชน์” จากนั้นส่งไปยังที่อยู่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้านได้เลย
สิทธิประโยชน์อื่นที่ประกันสังคมยังมอบให้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
จริงแล้วไม่ใช่แค่ค่าคลอดบุตรเท่านั้นแต่คุณแม่ที่อยู่ในสถานะผู้ประกันตนยังมีเงินสนับสนุนดูแลจากประกันสังคมคลอดบุตรส่วนอื่นด้วยเช่นกัน มาเช็กกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง แล้วได้เงินเท่าไหร่ เงื่อนไขเป็นอย่างไร
สิทธิประโยชน์ในการฝากครรภ์
เมื่อคุณแม่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการฝากครรภ์จากประกันสังคม โดยเอกสารสามารถใช้แบบเดียวกับการเบิกสิทธิประโยชน์การคลอดบุตร จำนวนเงินรวม 1,500 บาท ตามอายุครรภ์ ดังนี้
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สิทธิประโยชน์สูงสุด 500 บาท
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 2 อายุครรภ์ระหว่าง 13 แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สิทธิประโยชน์สูงสุด 300 บาท
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 3 อายุครรภ์ระหว่าง 21 แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ สิทธิประโยชน์สูงสุด 300 บาท
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 4 อายุครรภ์ระหว่าง 28 แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ สิทธิประโยชน์สูงสุด 200 บาท
- ฝากครรภ์ครั้งที่ 5 อายุครรภ์ระหว่าง 32-40 สัปดาห์ สิทธิประโยชน์สูงสุด 200 บาท
สิทธิประโยชน์ในการลาคลอดบุตร
อย่างที่อธิบายไปว่าสำหรับคุณแม่ที่ต้องลาเพื่อทำการคลอดบุตรจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากทางประกันสังคมนั่นคือ เงินสงเคราะห์การหยุดงานหลังลาคลอดบุตร 50% ของเงินเดือน ไม่เกิน 15,000 บาท / เดือน เช่น คุณแม่มีรายได้ต่อเดือน 40,000 บาท ก็จะได้รับ 15,000 บาท รวมแล้ว 45,000 บาท เป็นต้น การเบิกทำได้ปีละ 2 ครั้ง ต่อครั้งมีระยะเวลา 90 วัน และถ้าหากคุณแม่กลับไปทำงานก่อนกำหนดเงินจำนวนนี้ก็ยังได้รับจนครบถ้วน
สิทธิประโยชน์ในการเลี้ยงดูบุตร
นี่คืออีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่คุณพ่อคุณแม่รับจากทางประกันสังคม เมื่อลูกคลอดออกมาตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปีบริบูรณ์ จะได้รับค่าสงเคราะห์เลี้ยงดูบุตรอีกเดือนละ 800 บาท (ไม่เกิน 3 คน) ซึ่งมีเงื่อนไขว่าบุตรที่เกิดมาต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่นับรวมบุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ถูกยกให้เป็นบุตรผู้อื่น รวมถึงผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 36 เดือน จึงสามารถรับสิทธิ์นี้ได้
สรุป
นี่คือข้อมูลอันน่าสนใจซึ่งพ่อแม่ที่อยู่ในสถานะผู้ประกันตนกับทางประกันสังคมควรรู้เอาไว้เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ของตนเองเมื่อวางแผนมีลูก หรือคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกันตนหรือไม่ก็ตามอีกทางเลือกที่น่าสนใจนั่นคือการทำประกันคลอดบุตรเอาไว้หากวางแผนครอบครัวเรื่องนี้ชัดเจน
ซึ่งประกันค่าคลอดบุตรและตั้งครรภ์คุ้มครองสูง ประกันคลอดบุตร จาก LUMA คืออีกทางเลือกที่อย่ามองข้ามเด็ดขาด ให้ความคุ้มครองการตั้งครรภ์และคลอดบุตรสูงสุด 3 แสนบาท พร้อมคุ้มครองการเป็นผู้ป่วยในสูงสุดถึง 5 ล้านบาท / ปี ผู้ป่วยนอกอีก 40,000 บาท / ปี ให้การดูแลทารกแรกเกิดทันทีภายใน 25 วัน หลังคลอด หากมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์หรือตอนคลอดรับความคุ้มครอง 1 ล้านบาท (ระยะเวลารอคอยแค่ 10 เดือน) ดีและคุ้มค่าขนาดนี้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบซื้อด่วนแล้ว!!!