อัพเดทข้อมูลล่าสุด:
- August 29, 2024
ในปี 2022 หลายประเทศในยุโรปพบการระบาดของโรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศในแถบแอฟริกากลางกำลังสร้างความกังวลให้ผู้คนในขณะที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยจึงเริ่มมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การระบาด เวลาผ่านไป โควิด -19 ได้จางลง แต่อยู่ๆ กลางปี 2023 โรคฝีดาษลิงกลับมาเป็นข่าว และเริ่มมีการกังวลใจเรื่องโรคนี้ อย่างไรก็ตามโรคฝีดาษลิงมีประวัติการติดเชื้อในคนมามากกว่า 50 ปี มีอาการอย่างไร สามารถป้องกันได้อย่างไร LUMA ได้รวบรวมข้อมูลของโรคฝีดาษลิงไว้ดังนี้
ฝีดาษลิง คืออะไร?
โรคฝีดาษลิง คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ ถูกพบครั้งแรกในประเทศแถบแอฟริกากลางและตะวันตกในปี ค.ศ. 1970 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในสาธารรัฐคองโกและไนจีเรีย โดยโรคฝีดาษลิงมีอาการใกล้เคียงกับอาการที่เคยพบในผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษที่เคยระบาดทั่วโลก ก่อนถูกประกาศสิ้นสุดการระบาดโดย องค์การอนามัยโลก เมื่อปี 1980
โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิง (monkeypox virus) เป็นไวรัสที่อยู่ในสกุล Orthopoxvirus กลุ่มเดียวกันกับไวรัสไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสฝีดาษวัว (cowpox virus) และไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้ทรพิษ (vaccinia virus)
แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
- – สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10%
- – สายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1%
การค้นพบและการระบาดของโรคฝีดาษลิง
เมื่อปี 1958 มีการค้นพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกในลิง เป็นที่มาของชื่อโรค Monkeypox หรือ “ฝีดาษลิง” เชื้อไวรัสนี้พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น จากนั้นในปี 1970 มีบันทึกผู้ป่วยฝีดาษลิงในมนุษย์รายแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ตั้งแต่นั้นมาได้พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในหลายประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง โกตดิวัวร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย สาธารณรัฐคองโก และเซียร์ราลีโอน
การแพร่ไวรัสโรคฝีดาษลิง
ไวรัสของโรคฝีดาษลิง มีพาหะนำโรคคือสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ทั้งจากสัตว์สู่คน และ แพร่กระจายจากคนสู่คน
สัตว์สู่คน สามารถติดต่อได้จากสัตว์ฟันแทะทุกประเภท ผ่านการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง หรือผื่นของสัตว์โดยตรง การถูกสัตว์ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงกัดหรือข่วน รวมถึงการรับประทานอาหารที่ประกอบจากเนื้อสัตว์ติดเชื้อและปรุงไม่สุก
คนสู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำมูก น้ำหนอง ไอ หรือจาม โดยตรง รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนกับเชื้อของผู้ป่วย
การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงสามารถเกิดจากการสัมผัสและการกระทำอื่นๆ เช่น
- การสัมผัสรอยแตกบนผิวหนังของผู้ป่วยฝีดาษลิง
- การสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง ตุ่มหนองของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมถึงละอองจากระบบทางเดินหายใจ
- การถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน
- การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า การกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- การติดเชื้อผ่านวัสดุที่ปนเปื้อนเช่น ผ้าปูที่นอน หรือการสัมผัสที่นอนของสัตว์ที่ติดเชื้อ
การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงมีระยะเวลาฝักตัวของเชื้อโรคอยู่ที่ 5-20 วัน ซึ่งหากมีการสัมผัสกับเชื้อโรคมากจะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว และในทางกลับกัน หากสัมผัสเชื้อโรคไม่มากจะแสดงอาการภายในระยะเวลาประมาณ 3 อาทิตย์
อาการและลักษณะผื่นของโรคฝีดาษลิง
อาการในระยะที่เชื้อลุกลามก่อนร่างกายมีผื่น
- ไข้ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
- ภาวะต่อมน้ำเหลืองโต เป็นอาการที่โดดเด่นของโรคฝีดาษลิงเมื่อเทียบกับโรคอื่นที่คล้ายกันเช่น อีสุกอีใส หัด และไข้ทรพิษ
ระยะที่ร่างกายเริ่มมีผื่นขึ้น เกิดขึ้นหลังจากมีไข้ได้ 1-3 วัน โดยผื่นโรคฝีดาษลิงมีลักษณะดังนี้
- ผื่นฝีดาษลิงประกอบด้วยตุ่มบนผิวหนัง โดยตุ่มมี 4 ระยะ ได้แก่ จุดแดง ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง ตามลำดับ จากนั้นตุ่มจะแห้งแล้วหลุดหรือแตกออก
- ผื่นจะปรากฏบนใบหน้าและแขนขาหนาแน่นกว่าบนลำตัว
- ผื่นสามารถปรากฏบนส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้แก่ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เยื่อในช่องปาก อวัยวะเพศ และเยื่อตา
- ผื่นจะปรากฏอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยแต่ละตุ่มในบริเวณนั้นจะมีขนาดเท่ากัน อยู่ในระยะเดียวกัน (เช่นผื่นบริเวณขามีตุ่มขนาดเท่ากันอยู่ระยะตุ่มน้ำใสเหมือนกัน)
- ผู้ป่วยฝีดาษลิงมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่มีผื่น ในช่วงที่รักษาใกล้หายแผลจะตกสะเก็ดและมีอาการคัน
ฝีดาษลิงเป็นโรคที่หายได้เองโดยผู้ป่วยจะมีอาการของโรคยาวนานประมาณ 2 ถึง 4 สัปดาห์ ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสุขภาพเดิมของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อน โดยอาการที่รุนแรงมักพบในเด็กและผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
องค์การอนามัยโลก ได้ระบุว่าอัตราการตายของโรคฝีดาษลิง อยู่ที่ร้อยละ 0-11 ในประชากรทั่วไป อัตราสูงขึ้นในเด็ก และในช่วงที่มีการระบาดล่าสุดนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 3-6
การป้องกันโรคฝีดาษลิง
เนื่องจากโรคฝีดาษลิงเป็นโรคระบาดที่เป็นโรคประจำถิ่นในบางประเทศแถบแอฟริกากลาง ดังนั้นการป้องกันโรคฝีดาษลิงจึงป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้ระบุวิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิงไว้ดังนี้
- 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
- 2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- 3. หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะกรณีที่เดินทางเข้าไปในป่า
- 4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
- 5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักตัวเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่สามารถป้องกันด้วยวันซีนไข้ทรพิษ โดยสามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 85 แต่องค์การอนามัยโลกได้ยุติการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษตั้งแต่ประกาศสิ้นสุดโรคไข้ทรพิษในปี 1980 ทำให้คนที่เกิดหลังจากปีนั้น มีความเสี่ยงโรคฝีดาษลิงมากกว่าคนกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตามวัคซีนไข้ทรพิษยังมีการจัดเก็บไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและมีการใช้งานในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อไวรัส
โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย
สถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทยในปีนี้เกิดความกังวลในเวลาที่พบผู้ติดเชื้อโดยรวดเร็ว ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2566 นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคได้กล่าวว่าโรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นโรคที่ แพร่กระจายผ่านทางเพศสัมพันธ์และการสัมผัสโดยตรง ไม่จำเป็นต้องมีการมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถติดเชื้อได้ เช่น การสัมผัสร่างกายและผิวหนังที่มีตุ้มหนอง จะทำให้เชื้อสามารถเข้าไปสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่อาจจะเกิดแผล
ขณะนี้ การติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น และเป็นคนไทยเกือบ 100% ทำให้โรคนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงพอประมาณ ได้มีการระบุพื้นที่เสี่ยง โดยมีพื้นที่เสี่ยงสูง 3 จังหวัดที่อยู่ในระดับสีแดง คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และ ชลบุรี ระดับสีส้ม ได้แก่ สมุทรปราการ ภูเก็ต ปทุมธานี และสีเหลืองอีก 13 จังหวัด
วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง
ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะจากสภากาชาดไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องฉีดทุกคน ให้ฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่อาจมีโอกาสได้พบเชื้อ รวมถึงผู้ที่เกิดก่อนปี 2523 ซึ่งเคยได้รับการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากมีการค้นพบว่าพบว่าโรคฝีดาษลิงนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษ 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษลิงสูงถึง 80-85 เปอร์เซ็น แต่หากเป็นผู้สัมผัสเชื้อเสี่ยงสูงก็ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงเพิ่มอีก 1 โดส เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรดังกล่าวของสภากาชาดไทยในปัจจุบัน จะเหลือเพียงวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ราคาเข็มละ 2,200 บาท ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน และฉีดให้เฉพาะ “กลุ่มเสี่ยง” อายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น หลังจากก่อนหน้านี้มีการฉีด 2 วิธี คือ ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (ขนาดเต็มโดส 0.5 ML) ราคาเข็มละ 8,500 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน และ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (ครั้งละ 0.1 ML) ราคาจุดละ 2,200 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน แต่ด้วยมีผู้มารับบริการจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
หมายเหตุ: เนื้อหาของบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและปัญหาทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าเราจะพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่เราไม่ได้รับประกันในส่วนของความถูกต้อง ความทันสมัย และความครบถ้วนของเนื้อหา โปรดทราบว่าข้อมูลใด ๆ ในบทความนี้ไม่ใช่แหล่งข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับการให้คำแนะนำทางการแพทย์ การให้ข้อมูลนี้แก่คุณ เราไม่ได้ให้คำแนะนำใด ๆ ที่นำไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ไม่มีเนื้อหาใดในบทความนี้ที่สามารถนำไปพิจารณาหรือปฏิบัติแทนคำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาได้ และไม่มีข้อมูลใดในบทความนี้ที่แสดงถึงหรือรับประกันว่าคำแนะนำเหล่านั้นปลอดภัย เหมาะสม หรือมีประสิทธิภาพสำหรับคุณ สำหรับปัญหา ความกังวลด้านสุขภาพสุขภาพ การวินิจฉัย หรือการรักษา เราแนะนำให้ผู้อ่านขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสุขภาพ
กลุ่มที่ควรระวังไวรัสฝีดาษลิง
ปกติแล้วอาการของโรคฝีดาษลิงไม่ได้รุนแรงมาก สามารถหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ เว้นแต่อาการต่างๆ เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งกลุ่มที่ควรเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเมื่อมีอาการโรคฝีดาษลิง ได้แก่
- – กลุ่มผู้สูงอายุ
- – กลุ่มเด็ก
- – คนที่มีอาการเจ็บป่วยหรืออยู่ในช่วงทานยาที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- – ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง หรือกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคฝีดาษลิง
เนื่องจากการติดเชื้อสามารถส่งต่อผ่านการใกล้ชิดหรือสัมผัส หากพบว่ามีอาการคล้ายกับโรคฝีดาษลิงควรกักตัวหรือแยกตัวออกห่างคนใกล้ชิด จึงจะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
แหล่งที่มา NHS UK
ฝีดาษลิงคือโรคที่เกิดจากเกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิง (monkeypox virus) เป็นไวรัสที่อยู่ในสกุล Orthopoxvirus กลุ่มเดียวกันกับไวรัสไข้ทรพิษ และ ไวรัสฝีดาษวัว โดยเชื้อไวรัสนี้พบได้ในสัตว์หลากหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ ซึ่งมีการค้นพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกในลิง จึงเป็นที่มาของชื่อโรค Monkeypox หรือ “ฝีดาษลิง”
อาการของโรคฝีดาษลิงสามารถแบ่งอาการออกได้เป็น 2 ระยะตามปริมาณการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งระยะแรก คือ ระยะที่เชื้อลุกลาม อาการที่พบ ได้แก่ ไข้ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
และภาวะต่อมน้ำเหลืองโต
หลังจากเกิดอาการในระยะแรก 4-5 วัน จะแสดงอาการในระยะต่อมา คือ ระยะที่ร่างกายเริ่มมีผื่นขึ้น ซึ่งผื่นฝีดาษลิงจะประกอบไปด้วยตุ่มบนผิวหนัง มี 4 ระยะ ได้แก่ จุดแดง ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง ตามลำดับ จากนั้นตุ่มจะแห้งแล้วหลุดหรือแตกออก
แม้ว่าโรคฝีดาษลิงจะเป็นโรคที่แพร่เชื้อได้ แต่กลุ่มคนที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อเหล่านี้และมีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อฝีดาษลิง คือ
- ผู้ที่อาศัยหรือเดินทางในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ
- ผู้ที่สัมผัส หรือใกล้ชิดกับสัตว์และผู้ป่วย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัยเกี่ยวกับไวรัสฝีดาษลิง
- ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมหรือมีกิจกรรมทางเพศกับผู้ติดเชื้อ
- ผู้ที่อาศัยเขตป่า หรือเขตที่มีโอกาสรับเชื้อจากสัตว์
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้ระบุวิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิงไว้ดังนี้
- – หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งทุกชนิดของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
- – หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- – หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือผู้ที่ติดเชื้อ
กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักตัวเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่หายได้เองโดยผู้ป่วยจะมีอาการของโรคยาวนานประมาณ 2 ถึง 4 สัปดาห์ ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสุขภาพเดิมของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อน โดยอาการที่รุนแรงมักพบในเด็กและผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงจากสภากาชาดไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องฉีดทุกคน จำเป็นต้องฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่อาจมีโอกาสได้พบเชื้อ รวมถึงผู้ที่เกิดก่อนปี 2523 ซึ่งเคยได้รับการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากมีการค้นพบว่าพบว่าโรคฝีดาษลิงนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนโรคฝีดาษ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษลิงสูงถึง 80-85 เปอร์เซ็น แต่หากเป็นผู้สัมผัสเชื้อเสี่ยงสูงก็ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงเพิ่มอีก 1 โดส เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน