โรคภูมิแพ้ โรคใกล้ตัวที่ใครๆก็เป็นได้

Methinee Chinmetheephithak

Methinee Chinmetheephithak

ผู้ตรวจสอบความถูกต้องของบทความทางการแพทย์
Luma's Medical Team

โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ หรือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Allergy เป็นโรคที่ใกล้ตัวเรา และเป็นโรคในอันดับต้น ๆ ของคนไทยที่ป็นกันมาก แต่รายละเอียดในโรคนี้อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับพวกเราสักเท่าไร โดยโรคภูมิแพ้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองผิดปกติต่อสารต่างๆ ที่เข้าสัมผัส หรือผ่านไปทางร่างกาย โรคนี้สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

โรคภูมิแพ้ หมายถึงอะไร

โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่เกิดจากร่างกายของเราตอบสนองที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น อาหาร ฝุ่น เกสรพืช มากกว่าปกติ  โดยผู้ที่เป็นภูมิแพ้จะมีอาการและความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน เพราะร่างกายของแต่ละคนจะมีการตอบสนอง รวมถึงมีชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่เหมือนกัน

โดยสาเหตุของโรคภูมิแพ้  สามารถเกิดได้ทั้งจากกรรมพันธุ์และเกิดจากสิ่งแวดล้อม โดยปกติถ้าพ่อหรือแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ ก็มีโอกาส 30-50 % ก็มีความเสี่ยงที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรมและมีความเสี่ยงที่ลูกก็จะเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ถ้าพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็มีโอกาสสูงถึง 50-70 % ที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรมและมีความเสี่ยงที่ลูกก็จะเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าคนปกติที่มีแค่พ่อหรือแม่มีความเสี่ยง

แพ้ฝุ่น

โรคภูมิแพ้ฝุ่น เป็นภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อย เมื่อพูดถึงการแพ้ฝุ่น สามารถแบ่งสารก่อภูมิแพ้ได้ออกเป็น  2 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้

  • ฝุ่นละออง หรือฝุ่นพิษ เช่น ฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ
  • ไรฝุ่น เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่ตระกูลเดียวกับหิด แมงมุม แต่มีขนาดที่เล็กมากจนแทบไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และกินขี้ไคลและรังแคของมนุษย์เป็นอาหาร ไรฝุ่นพวกนี้มักอาศัยอยู่ในห้องนอนของเรา โดยเฉพาะบริเวณเตียงนอน ตามผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม ซึ่งทั้งตัวไรฝุ่นและมูลของไรฝุ่นนี้เองที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการภูมิแพ้ 

เมื่อเกิดภูมิแพ้ฝุ่นหรือไรฝุ่นอาจมีอาการภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล ไอ  จาม หายใจลำบาก ตาแดง หรือมีอาการคันหรือมีผื่นขึ้น แต่สำหรับคนที่เป็นโรคหืด อาจมีอาการที่รุนแรงมากกว่า เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก

สำหรับการรักษาภูมิแพ้ฝุ่นและไรฝุ่น สำหรับผู้ทีมีอาการแพ้ฝุ่นที่ไม่รุนแรงสามารถบรรเทาอาการแพ้ได้ด้วยการรับประทานยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน  (Antihistamines) เมื่อมีอาการเป็นต้น 

แพ้ ขนหรือรังแคของสุนัขและแมว

โรคภูมิแพ้ขนหรือรังแคจากสัตว์เลี้ยงอย่างเช่น สุนัขและแมว เป็นภูมิแพ้ที่มักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์เลี้ยงอย่าง ขน และรังแค ซึ่งก็คือผิวหนังแห้งที่ลอกออกมาจากตัวสุนัขหรือแมว สำหรับอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากขนหรือรังแคสัตว์เลี้ยงมักมีอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูก คันตา ไอ มีเสมหะในลำคอ มีผื่นคัน ตุ่ม หรือกลากขึ้นที่ผิวหนัง หรือแม้กระทั่งมีอาการแน่นหน้าอก หอบ 

สำหรับการรักษาภูมิแพ้ขนหรือรังแคจากสัตว์เลี้ยง หากมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) ยาพ่นจมูก ยาพ่นคอ เมื่อมีอาการ แต่อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ต่อในขณะที่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็สามารถรักษาอาการภูมิแพ้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้หรือภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งเป็นการให้สารก่อภูมิแพ้ (Allergens) ที่มาจากแมวหรือสุนัข ฉีดเข้าไปในร่างกายทีละน้อย เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้จนสามารถทำให้หายขาดการโรคภูมิแพ้นี้ได้

แพ้ เกสรดอกหญ้า

โรคภูมิแพ้เกสรดอกหญ้า เป็นภูมิแพ้ที่เกิดจากละอองเกสรดอกไม้ ดอกหญ้า หรือสปอร์ของพืชและเชื้อรา ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้หนึ่งที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่การแพ้จำพวกนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นตลอดทั้งปี แต่จะเกิดตามฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูที่มีอากาศแห้งและลมพัดแรง ที่ละอองเกสรดอกไม้จะมีการกระจายมากที่สุด  สำหรับอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากเกสรดอกหญ้าต่าง ๆ มักมีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล คันตา ตาแดง น้ำตาไหล ไอ  การรับรสหรือกลิ่นลดลง หรือผิวหนังอาจมีผื่นคัน ผื่นลมพิษ 

สำหรับการรักษาภูมิแพ้เกสรดอกหญ้า สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน  (Antihistamines) ที่ช่วยบรรเทาอาการคันจมูก คันตา น้ำมูกไหล ไอ จาม จากอาการแพ้ หรือยาสเตอรอยด์พ่นจมูก (Intranasal Steroids) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ชนิดคงที่ หรืออาการปานกลางถึงรุนแรง

โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อย

โรคภูมิแพ้เป็นสภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กและมีความรุนแรงต่างกันไปตามบุคลิกภาพและสภาวะสุขภาพของเด็ก โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในเด็กสามารถทำให้เด็กมีความไม่สบาย และอันตรายกว่าผู้ใหญ่เพราะบางครั้งเด็กอาจจะยังสื่อสารไม่ได้ หรือ ไม่ทราบถึงอาการที่กำลังเป็นอยู่ ทำให้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กและครอบครัว ดังนั้นการเข้าใจและการจัดการกับโรคภูมิแพ้ในเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ และ บรรเทาอาการด้วยการรักษาที่ถูกต้อง

โรคแพ้อาหาร

โรคภูมิแพ้อาหาร เป็นโรคหนึ่งที่พบได้มากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก สำหรับอาหารที่ส่วนใหญ่เด็กมักจะมีอาการแพ้ มีดังนี้ 

  • นมวัว เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี มีโอกาสที่จะแพ้โปรตีนในนมวัวได้สูง ซึ่งไม่สามารถไม่ย่อยน้ำตาลแลกโตสที่พบอยู่ในนมวัว    
  • ไข่ เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ก็จะเจออาการแพ้ไข่ได้ โดยเฉพาะในไข่ขาว เพราะในไข่ขาวจะมีโปรตีนที่ชื่อว่า โอวัลบูมิน ที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้ 
  • ถั่ว โดยถั่วที่พบการแพ้บ่อยๆ ได้แก่ ถั่วลิสงและถั่วเหลือง แต่สำหรับเด็กในไทยนั้นมักไม่ค่อยเกิดอาการแพ้ถั่วมากนัก
  • แป้งสาลี เด็กบางคนก็สามารถเกิดจะแพ้แป้งสาลี ได้ ในพวกจำพวกอาหารประเภทขนมปัง พาสต้า 
  • อาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา จะกระตุ้นให้เกิดอาารแพ้ได้มากว่าสัตว์น้ำจืด 
  • อาหารอื่น ๆ เช่น อาหารแปรรูป ที่มักผสมสารเคมีต่าง ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เด็กเกิดอาการภูมิแพ้ได้ รวมไปถึง เมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น งา 

สำหรับอาหารประเภทนมวัว ไข่ และแป้งสาลีนั้น ส่วนมากเด็กอาการแพ้จะหายไปเมื่อโตขึ้น แต่สำหรับการแพ้อาหารประเภทถั่ว และอาหารทะเลนั้น จะมีอาการแพ้ตลอดชีวิต โดยโรคภูมิแพ้อาหารในเด็กนั้นจะมีอาการแพ้ตั้งแต่น้อยจนถึงรุนแรงจนถึงชีวิตได้  

สำหรับการดูแลป้องกันลูกน้อยจาการแพ้อาหาร สามารถทำได้โดยการให้ลูกดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนไปถึง  6  เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการที่เด็กจะแพ้นมวัว และเริ่มให้อาหารเสริมหลังจากเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่เสี่ยงต่ออาการแพ้แก่เด็ก

โรคหืด

โรคหืด เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ร่วมกับหลอดลมตีบแคบและมีภาวะไวต่อสารกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการหายใจเร็วและแรงกว่าปกติ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก โดยโรค หืดอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือจากกรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้น 

ดังนั้น เมื่อพ่อแม่เห็นลูกมีอาการเหมือนโรคหืด ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจ หากเด็กเป็นโรคหืด แพทย์จะแนะนำยาที่ช่วยบรรเทาอาการทั้งแบบยาชนิดรับประทานและยาชนิดสูดเข้าทางปาก และสำหรับเด็กที่เป็นโรคหืด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ รวมถึงทำความสะอาดห้องนอนอยู่เสมอ ไม่เก็บของที่เก็บฝุ่นในห้อง หมั่นซักผ้านวม ผ้าปูที่นอน

โรคผื่นแพ้ทางผิวหนัง

โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือที่ได้ยินบ่อยๆ คือ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นภาวะที่ผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรัง โรคนี้สามารถพบได้บ่อยในทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการสำคัญของโรคนี้คือผิวหนังที่แห้งและอักเสบ และมักมีอาการคัน มันจะเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะในเวลากลางคืน

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังอาจเกิดตุ่มน้ำและตุ่มหนองขึ้นบนผิวหนัง และในบางครั้งอาจจะมีน้ำเหลืองไหลออกมา หากมีการติดเชื้อร่วมกับโรคนี้ อาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของการอักเสบ และต้องปรึกษาทางแพทย์เพื่อรักษาเพิ่มเติม

การดูแลรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังส่วนมากเน้นไปที่การบรรเทาอาการและการควบคุมอาการ  การป้องกันหลักคือการบำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื่นเพื่อลดอาการแห้งและคัน เพราะฉนันการใช้ครีมบำรุงผิวที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากความชุ่มชื่นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจะทำให้อาการแย่ลง เช่น สารเคมีและสารกันเสียที่อาจกระตุ้นการอักเสบของผิวหนัง

โรคภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูก

โรคภูมิแพ้ในเด็กอีกโรคหนึ่งที่พบ คือ  โรคภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูก  อาการของโรคนี้สำหรับเด็ก ๆ คือ มีอาการคันจมูก จามบ่อย น้ำมูกไหล มีอาการคันตา เคืองตา ตาบวม และอาการไอเนื่องจากมีเสมหะ เจ็บคอ หากปล่อยไว้นาน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูกตามมา เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น 

สำหรับการดูแลรักษาโรคภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูก สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาแก้แพ้ ยาสเตอรอยด์พ่นจมูก ซึ่งช่วยลดอาการคัน คัดจมูก น้ำมูกไหลได้ รวมถึงการใช้น้ำเกลือล้างจมูก ก็สามารถช่วยล้างน้ำมูก สารก่อภูมิแพ้ ช่วยลดอาการคัดจมูกได้   และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ให้มากที่สุด

โรคภูมิแพ้เยื่อบุตา

อีกหนึ่งโรคภูมิแพ้ในเด็กที่พบค่อนข้างบ่อย คือ โรคภูมิแพ้เยื่อบุตา ที่ร่างกายเกิดการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุตา โดยจะมีอาการตาแดง น้ำตาไหล คันหรือเคืองในตา ขี้ตามีลักษณะใสหรือมีสีขาวขุ่น และอาจมีอาการภูมิแพ้อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คันจมูก จาม น้ำมูกไหล เป็นต้น หากปล่อยไว้จนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจมีอาการปวดแสบร้อนในดวงตาได้

สำหรับการดูแลรักษาโรคภูมิแพ้เยื่อบุตา สามารถรักษาได้โดยยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน และยาแก้แพ้ชนิดหยอดตา รวมถึงการประคบเย็นที่ดวงตา ก็จะสามารถช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุตาได้ 

โรคภูมิแพ้ในเด็ก

การทดสอบภูมิแพ้

สำหรับการทดสอบโรคภูมิแพ้นั้น สามารถทำการทดสอบได้ 2 วิธี ดังนี้

การทดสอบภูมิแพ้ผ่านทางผิวหนัง (Allergy skin test)

การทดสอบภูมิแพ้ผ่านทางผิวหนัง จะทดสอบโดยการนำน้ำยาที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่น  เกสรพืช รังแคของสัตว์ และสารก่อภูมิแพ้จากอาหารประเภทต่างๆ มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของผู้ที่เป็นภูมิแพ้ เพื่อหาว่าร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้ใด การทดสอบนี้สามารถทำได้ง่าย ราคาไม่แพงนัก และทราบผลค่อนข้างไว โดยวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในการการทดสอบภูมิแพ้ผ่านทางผิวหนัง คือ วิธีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยการสะกิด” (skin prick test) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  1. 1. หยดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนัง จากนั้นจึงใช้เครื่องมือทดสอบ สะกิดที่ผิวหนัง โดยส่วนมากจะเป็นบริเวณท้องแขน สำหรับเด็กเล็ก มักจะทดสอบบริเวณหลัง
  2. 2. รออ่านผลหลังจากการทดสอบประมาณ 15-20 นาที หากแพ้สารใด ก็จะเกิดอาการมีตุ่มแดง นูน หรือคัน ในตำแหน่งที่ทดสอบสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ
  3. 3. หลังจากการทดสอบ แนะนำให้นั่งรอดูอาการต่ออีกประมาณ 30 นาที หากไม่มีอาการผิด ปกติอย่างอื่น ก็สามารถกลับบ้านได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนการทดสอบ ควรงดรับประทานยาแก้แพ้ (เฉพาะชนิดที่รับประทาน) ก่อนมาทำการทดสอบอย่างน้อย 5-7 วัน หากมีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือมีการใช้ยาสเตียรอยด์ ควรแจ้งชื่อยาให้แพทย์ทราบก่อนทดสอบ

การเจาะเลือดส่งตรวจ เพื่อหาสารก่อภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ (Serum Specific IgE) 

การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือดส่งตรวจ มีข้อดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องงดรับประทานยาแก้แพ้ก่อนมาทำการทดสอบ ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ รวมถึงใช้เวลาทดสอบไม่นาน แต่จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และต้องรอผลการทดสอบประมาณ 1 สัปดาห์

การดูแลร่างกาย เมื่อเป็นโรคภูมิแพ้

สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ สามารถดูแลร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงหรือช่วยลดอาการของภูมิแพ้ได้ ดังนี้

  1. 1. การเตรียมยาแก้ภูมิแพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) เพื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน หรือยาแก้แพ้ประจำจากแพทย์เจ้าของไข้
  2. 2. พยายามหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หรืออาหารต่าง ๆ
  3. 3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เข้านอนดึกจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันได้มีการซ่อมแซมและฟื้นฟูได้อย่างเพียงพอ
  4. 4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ รวมถึงรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ
  5. 5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที การออกกำลังกายจะทำให้ความไวของเยื่อบุจมูกและเยื่อบุหลอดลมลดลง รวมถึงมีภูมิต้านทานต่อโรคหวัดมากขึ้นอีกด้วย
  6. 6. ทำความสะอาดบ้าน ที่อยู่อาศัย ให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณที่อับชื้นที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา และควรจัดบ้านให้โล่ง สะอาด หลีกเลี่ยงวัสดุที่ทำมาจากขนสัตว์หรือผ้าหนา ๆ

สรุปบทความ

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และก็มีภูมิแพ้หลากหลายรูปแบบ อันส่งผลให้เกิดอาการแพ้ที่แตกต่างกัน จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา และถึงแม้ว่าโรคภูมิแพ้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ยาก แต่ถ้าหากเรารับรู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้แบบต่าง ๆ วิธีการรักษา การดูแลร่างกายและการป้องกันโรคภูมิแพ้แล้ว ก็ย่อมทำให้เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับโรคภูมิแพ้แบบต่าง ๆ ได้

โรคภูมิแพ้

“ที่บ้านฉันแพ้อากาศทั้งฉันเองและคุณป้า เวลาเกิดอาการแพ้จะมีทั้งน้ำมูกไหล จาม และเป็นหวัด ต้องคอยรู้ตัวให้ทันเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น เข้าฤดูฝน อาการแพ้ชอบตามหา 

ในการปรับเปลี่ยนชีวิตเพราะมีโรคภูมิแพ้ ปรับไม่มากค่ะ ขยันออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง รวมกับนอนให้เพียงพอ แต่หากอาการหนักจะมีการใช้ยาช่วยให้ดีขึ้นค่ะ”

Neung, ฝ่ายบุคคล

โรคภูมิแพ้

ที่บ้านผมมีคนเป็นโรคภูมิแพ้ 2 คนครับ ตัวผมเองแพ้ฝุ่นและไรฝุ่น ส่วนคุณพ่อแพ้น้ำยาฆ่าแมลง 

สำหรับผมเวลาแพ้ฝุ่นจะมีอาการ จามไม่หยุด ต้องเอาตัวเองออกห่างจากพื้นที่ตรงนั้นและสูดอากาศบริสุทธิ์ ใช้เวลาไม่นาน อาการก็จะดีขึ้นครับ

แต่สำหรับคุณพ่อ เวลาเกิดอาการแพ้จากกลิ่นยาฆ่าแมลง คุณพ่อมีอาการหอบหืดและต้องใช้ยารักษา”

Dr. Kao, แผนกการตลาด

โรคภูมิแพ้

“ส่วนตัวผมไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ แต่คุณลุงแพ้อาหารครับ แพ้กล้วย และขนมจีน เพราะขั้นตอนในการทำมีการหมัก

อาการของคุณลุงเวลาเกิดอาการแพ้จะหายใจลำบาก แต่ยังไม่เคยอาการหนักถึงขั้นต้องไปโรงพยาบาล มีการปรึกษาหมอและรับทราบว่าแพ้ 2 สิ่งนี้เลยต้องปรับการใช้ชีวิตนิดหน่อย เช่น ที่บ้านจะไม่กินขนมจีนแค่นั้นเอง”

Petch, แผนการขาย

You May Also Like

สุขภาพจิตดี
สุขภาพ

ออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้จริงเหรอ

การออกกำลังกายมักเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีทางกาย สิ่งที่คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าจะได้รับจากการออกกำลังกายจึงเป็นรูปร่างสัดส่วนที่ดีและความแข็งแรง แต่คุณอาจจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะออกไปเดินเร็วกลางแจ้งหรือยกน้ำหนักในยิม หลังจากออกกำลังกายคุณจะรู้สึกพอใจหรือมีความสุข ความรู้สึกดีเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงชั่วคราว ดังที่หลายงานวิจัยพบว่าการออกกำลังกายสามารถช่วยให้ปัญหาสุขภาพจิตดีขึ้นได้ การออกกำลังหายจึงมีข้อดีนอกเหนือไปจากสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่ยังช่วยบรรเทาความเครียดชั่วคราว คลายความวิตกกังวล และช่วยให้ปัญหาสุขภาพจิตดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2007 นักวิจัยจากอิสราเอลค้นพบว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเพียงหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง เมื่อต้นปี 2017 สถาบันการกีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งเยอรมนี พบว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำช่วยเพิ่มความสามารถของผู้เข้าร่วมวิจัยในการจัดการกับความเครียดในชีวิตจริง การออกกำลังกาย …

ดื้อยา
สุขภาพ

การดื้อยา: ทำความรู้จักกับการดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย

ยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกว่ายาต้านแบคทีเรียเป็นยาที่ทำลายหรือชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย นับตั้งแต่การค้นพบเพนิซิลลินโดยอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิงในปี 1928 ยาปฏิชีวนะได้ปกป้องและช่วยชีวิตผู้คนหลายร้อยล้านคนจากโรคติดเชื้อมากมาย อย่างไรก็ตาม ยาปฏิชีวนะใช้เฉพาะกับแบคทีเรียเท่านั้น และไม่สามารถใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสหรือโรคติดเชื้อปรสิตส่วนใหญ่ได้ และควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่แพทย์ระบุเท่านั้น การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปจะทำให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์หลายล้านล้านชนิดซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์และทรัพยากรสิ่งมีชีวิตบนโลกมีจำนวนลดลง แต่ในขณะเดียวกันจุลินทรีย์ดื้อยาจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและทำให้ยากต่อการรักษาขึ้นเรื่อยๆ การหยุดใช้ยาปฏิชีวนะก่อนที่แพทย์กำหนดจะทำให้การรักษาในอนาคตไม่ได้ผล เนื่องจากแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่ได้สัมผัสกับยาปฏิชีวนะไปแล้ว และอาจเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้ หากมีการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกวิธีและเกินจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียมากกว่าเกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างภัยพิบัติให้กับอารยธรรมยุคใหม่ การดื้อยาปฏิชีวนะกลายเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งที่ประชากรโลกทั่วโลกกำลังเผชิญ ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย จากการศึกษาวิจัยสำคัญที่ถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวางและตีพิมพ์ในปี …

HPV คือ
สุขภาพ

HPV คืออะไร อาการ เป็นอย่างไร ควรทำความเข้าใจให้ดี

เรื่องสุขภาพ ยิ่งรู้ก็มากยิ่งดี และถ้ายิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรค HPV (Human Papillomavirus) การรู้จักและทำความเข้าใจไวรัสชนิดนี้ที่พบได้อย่างแพร่หลาย ก็อาจเปลี่ยนชีวิตคุณได้เช่นกัน HPV เป็นไวรัสที่พบได้ทั่วไปมีมากกว่า 100 ชนิด และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง ตั้งแต่หูดไปจนถึงมะเร็ง ในบทความนี้ ได้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับเชื้อ HPV ทั้งการแพร่เชื้อ ปัจจัยเสี่ยง การป้องกัน …