มาทำความรู้จักฝีดาษลิง คืออะไร? ระบาดที่ไหน? ป้องกันได้อย่างไรบ้าง?

ฝีดาษลิง

ในปี 2022 หลายประเทศในยุโรปพบการระบาดของโรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศในแถบแอฟริกากลางกำลังสร้างความกังวลให้ผู้คนในขณะที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยจึงเริ่มมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การระบาด เวลาผ่านไป โควิด -19 ได้จางลง แต่อยู่ๆ กลางปี 2023 โรคฝีดาษลิงกลับมาเป็นข่าว และเริ่มมีการกังวลใจเรื่องโรคนี้ อย่างไรก็ตามโรคฝีดาษลิงมีประวัติการติดเชื้อในคนมามากกว่า 50 ปี มีอาการอย่างไร สามารถป้องกันได้อย่างไร LUMA ได้รวบรวมข้อมูลของโรคฝีดาษลิงไว้ดังนี้  

ฝีดาษลิง คืออะไร? 

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ มีอาการใกล้เคียงกับอาการที่เคยพบในผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษที่เคยระบาดทั่วโลก ก่อนถูกประกาศสิ้นสุดการระบาดโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 1980  

โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิง (monkeypox virus) เป็นไวรัสที่อยู่ในสกุล Orthopoxvirus กลุ่มเดียวกันกับไวรัสไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสฝีดาษวัว (cowpox virus) และไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้ทรพิษ (vaccinia virus) 

การค้นพบและการระบาดของโรคฝีดาษลิง 

เมื่อปี 1958 มีการค้นพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกในลิง เป็นที่มาของชื่อโรค Monkeypox หรือ “ฝีดาษลิง” เชื้อไวรัสนี้พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น จากนั้นในปี 1970 มีบันทึกผู้ป่วยฝีดาษลิงในมนุษย์รายแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ตั้งแต่นั้นมาได้พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในหลายประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง โกตดิวัวร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย สาธารณรัฐคองโก และเซียร์ราลีโอน 

การแพร่ไวรัสโรคฝีดาษลิง 

ไวรัสของโรคฝีดาษลิง แพร่จากสัตว์สู่คน และสามารถแพร่จากคนสู่คน โดยสามารถติดเชื้อได้จาก 

  • การสัมผัสรอยแตกบนผิวหนังของผู้ป่วยฝีดาษลิง 
  • การสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง ตุ่มหนองของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมถึงละอองจากระบบทางเดินหายใจ 
  • การถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน 
  • การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า การกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ 
  • การติดเชื้อผ่านวัสดุที่ปนเปื้อนเช่น ผ้าปูที่นอน หรือการสัมผัสที่นอนของสัตว์ที่ติดเชื้อ 

การติดเชื้อฝีดาษลิงมีระยะฟักตัว (ระยะตั้งแต่ติดเชื้อถึงช่วงที่เริ่มมีอาการของโรค) อยู่ที่ 6-13 วัน แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจยาวนานตั้งแต่ 5-21 วัน

ฝีดาษลิง

อาการและลักษณะผื่นของโรคฝีดาษลิง 

อาการในระยะที่เชื้อลุกลามก่อนร่างกายมีผื่น

  • ไข้ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
  • ภาวะต่อมน้ำเหลืองโต เป็นอาการที่โดดเด่นของโรคฝีดาษลิงเมื่อเทียบกับโรคอื่นที่คล้ายกันเช่น อีสุกอีใส หัด และไข้ทรพิษ

ระยะที่ร่างกายเริ่มมีผื่นขึ้น เกิดขึ้นหลังจากมีไข้ได้ 1-3 วัน โดยผื่นโรคฝีดาษลิงมีลักษณะดังนี้

  • ผื่นฝีดาษลิงประกอบด้วยตุ่มบนผิวหนัง โดยตุ่มมี 4 ระยะ ได้แก่ จุดแดง ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง ตามลำดับ จากนั้นตุ่มจะแห้งแล้วหลุดหรือแตกออก
  • ผื่นจะปรากฏบนใบหน้าและแขนขาหนาแน่นกว่าบนลำตัว
  • ผื่นสามารถปรากฏบนส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้แก่ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เยื่อในช่องปาก อวัยวะเพศ และเยื่อตา
  • ผื่นจะปรากฏอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยแต่ละตุ่มในบริเวณนั้นจะมีขนาดเท่ากัน อยู่ในระยะเดียวกัน (เช่นผื่นบริเวณขามีตุ่มขนาดเท่ากันอยู่ระยะตุ่มน้ำใสเหมือนกัน)
  • ผู้ป่วยฝีดาษลิงมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่มีผื่น ในช่วงที่รักษาใกล้หายแผลจะตกสะเก็ดและมีอาการคัน 

ฝีดาษลิงเป็นโรคที่หายได้เองโดยผู้ป่วยจะมีอาการของโรคยาวนานประมาณ 2 ถึง 4 สัปดาห์ ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสุขภาพเดิมของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อน โดยอาการที่รุนแรงมักพบในเด็กและผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

องค์การอนามัยโลก ได้ระบุว่าอัตราการตายของโรคฝีดาษลิง อยู่ที่ร้อยละ 0-11 ในประชากรทั่วไป อัตราสูงขึ้นในเด็ก และในช่วงที่มีการระบาดล่าสุดนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 3-6  

การป้องกันโรคฝีดาษลิง 

เนื่องจากโรคฝีดาษลิงเป็นโรคระบาดที่เป็นโรคประจำถิ่นในบางประเทศแถบแอฟริกากลาง ดังนั้นการป้องกันโรคฝีดาษลิงจึงป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้ระบุวิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิงไว้ดังนี้ 

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
  2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  
  3. หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะกรณีที่เดินทางเข้าไปในป่า
  4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
  5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักตัวเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ 

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่สามารถป้องกันด้วยวันซีนไข้ทรพิษ โดยสามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 85 แต่องค์การอนามัยโลกได้ยุติการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษตั้งแต่ประกาศสิ้นสุดโรคไข้ทรพิษในปี 1980 ทำให้คนที่เกิดหลังจากปีนั้น มีความเสี่ยงโรคฝีดาษลิงมากกว่าคนกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตามวัคซีนไข้ทรพิษยังมีการจัดเก็บไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและมีการใช้งานในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อไวรัส

โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย

สถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทยในปีนี้เกิดความกังวลในเวลาที่พบผู้ติดเชื้อโดยรวดเร็ว ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2566 นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคได้กล่าวว่าโรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นโรคที่ แพร่กระจายผ่านทางเพศสัมพันธ์และการสัมผัสโดยตรง ไม่จำเป็นต้องมีการมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถติดเชื้อได้ เช่น การสัมผัสร่างกายและผิวหนังที่มีตุ้มหนอง จะทำให้เชื้อสามารถเข้าไปสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่อาจจะเกิดแผล 

ขณะนี้ การติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น และเป็นคนไทยเกือบ 100% ทำให้โรคนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงพอประมาณ ได้มีการระบุพื้นที่เสี่ยง โดยมีพื้นที่เสี่ยงสูง  3 จังหวัดที่อยู่ในระดับสีแดง คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และ ชลบุรี ระดับสีส้ม ได้แก่ สมุทรปราการ ภูเก็ต ปทุมธานี และสีเหลืองอีก 13 จังหวัด

 

หมายเหตุ: เนื้อหาของบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและปัญหาทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าเราจะพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่เราไม่ได้รับประกันในส่วนของความถูกต้อง ความทันสมัย และความครบถ้วนของเนื้อหา โปรดทราบว่าข้อมูลใด ๆ ในบทความนี้ไม่ใช่แหล่งข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับการให้คำแนะนำทางการแพทย์ การให้ข้อมูลนี้แก่คุณ เราไม่ได้ให้คำแนะนำใด ๆ ที่นำไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ไม่มีเนื้อหาใดในบทความนี้ที่สามารถนำไปพิจารณาหรือปฏิบัติแทนคำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาได้ และไม่มีข้อมูลใดในบทความนี้ที่แสดงถึงหรือรับประกันว่าคำแนะนำเหล่านั้นปลอดภัย เหมาะสม หรือมีประสิทธิภาพสำหรับคุณ สำหรับปัญหา ความกังวลด้านสุขภาพสุขภาพ การวินิจฉัย หรือการรักษา เราแนะนำให้ผู้อ่านขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสุขภาพ

 

Table of Contents

You May Also Like

สิทธิรักษาพยาบาล
บทความ

สิทธิรักษาพยาบาล 3 ระบบของไทย

สิทธิรักษาพยาบาลในประเทศไทย คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ที่รัฐบาลมอบให้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สิทธิรักษาพยาบาลของไทยมีอะไรบ้าง  คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากภาครัฐ โดยมีระบบหลัก 3 ระบบ ดังนี้ สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทรักษาทุกโรค/บัตรทอง) สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ คือ  สิทธิรักษาพยาบาลที่ข้าราชการและบุคคลในครอบครัว เช่น …

ประกันมะเร็งที่ไหนดี
บทความ

ประกันมะเร็งที่ไหนดี 2567

โรคมะเร็งใกล้ตัวกว่าที่คิด และ หนึ่ง ใน หก คน ทั่วโลก เสียชีวิตด้วยสาเหตุโรคมะเร็ง ไม่ว่าเรื่องกรรมพันธุ์ หรือ สาเหตุใดไม่อาจทราบ LUMA เองก็ได้เจอโรคมะเร็งในสมาชิกเพิ่มขึ้น และที่น่าตกใจกว่านั้น อายุของผู้ป่วยน้อยลงกว่าที่ผ่านมา การหาประกันที่คุ้มครองมะเร็ง เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าเลือกแบบประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ครอบคลุมการรักษามะเร็ง หรือ เลือกแบบ …

ประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ไหนดี
บทความ

ประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ไหนดี 2567

ประกันสุขภาพเหมาจ่ายมีให้เลือกค่อนข้างเยอะในทุกวันนี้ และด้วยข้อมูลที่คอนข้างเยอะ รายละเอียดที่ต้องสนใจเยอะ ทำให้การตัดสินใจอาจจะลำบากกว่าที่ควรเป็น LUMA ได้ทำการบ้านมาให้แล้ว ว่าบริษัทไหนดีอย่างไร LUMA AXA MTL LMG Pacific Cross Allianz Ayudhya วิริยะประกันภัย April Falcon Insurance ในเมื่อเลือกแล้ว …