ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร? โรคฮิตทำลายสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

ในปัจจุบันไลฟ์สไตล์ในการทำงานของแต่ละคนเปลี่ยนไปจากในอดีตมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานออฟฟิศที่วันทั้งวันต้องนั่งทำงานอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เสร็จจากงานประจำก็ก้มหน้าก้มตาอยู่กับ
จอมือถือสมาร์ทโฟน เรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ อยู่กับโต๊ะทำงานวันละหลายชั่วโมง ฝืนทำงานไปโดยแทบไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ยืน เดิน หรือเคลื่อนไหวอะไรเลย มารู้ตัวอีกทีก็เริ่มจะรู้สึกปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือเกิดอาการชาที่นิ้วและมือเข้าให้แล้ว อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังเป็นโรคฮิตที่ชื่อว่า ออฟฟิศซินโดรม” แล้วนั่นเอง

หลายคนยังเข้าใจว่าออฟฟิศซินโดรม เป็นเองได้ก็หายเองได้ ไม่รุนแรงอะไร ต้องบอกเลยว่าความคิดนี้อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม จนเป็นสาเหตุของโรคอีกมากมาย วันนี้เราจะพาไปดูสาเหตุต่าง ๆ พร้อมแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี

ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?

ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คืออาการปวดตึงบริเวณกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาการปวดหรือชา จากการอักเสบตามเนื้อตามตัว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนวัยทำงานที่พฤติกรรมโดยส่วนใหญ่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือใช้มือถือเป็นเวลานาน โดยไม่ค่อยได้เปลี่ยนท่าทางหรือขยับตัว เช่น การนั่งหลังค่อมจะทำให้กล้ามเนื้อต้นคอเกร็งอยู่ตลอดเวลา หรือการจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ จนมือชา นิ้วล็อก เกิดการบวมอักเสบ ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไทยมากกว่า 80% มีอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนทำงานออฟฟิศก็ตาม แต่ก็อาจจะเกิดจากการยกของหนัก หรือการนั่งทำงานแบบที่ผิดลักษณะได้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าการนวดอาจจะช่วยทำให้อาการออฟฟิศซินโดรมทุเลาได้บ้าง แต่เมื่อผ่านไปสักระยะก็จะกลับมาเป็นอีก และอาจเป็นเรื้อรังมากขึ้น หากไม่รีบดูแลรักษา อาจจะลุกลามจนกลายเป็นโรคไมเกรน เส้นประสาทอักเสบ โรคความผิดปกติของโครงร่างกล้ามเนื้อ หรือโรคเกี่ยวกับระบบกระดูก และกล้ามเนื้อขั้นรุนแรงก็ได้

ออฟฟิศซินโดรม

โรคในกลุ่มออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อย

จากพฤติกรรมที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากความเสี่ยงในการเป็นออฟฟิศซินโดรมมีสูงมากแล้ว ยังส่งผลต่ออาการต่าง ๆ ได้อีกหลายอาการ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้ออื่น ๆ เช่น

  • ปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) ที่มักจะพบบริเวณคอ บ่า ไหล่
  • โรคเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ (Carpal Tunnel Syndrome)
  • นิ้วล็อก (Trigger Finger)
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tendinitis)
  • ปวดหลัง (Postural Back Pain)
  • อาการปวดเข่าด้านหน้า (Patellofemoral Syndrome)
  • กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (Myofascial pain syndrome)
  • ความตึงตัวของเส้นประสาท (Nerve tension)
  • กล้ามเนื้อแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow)
  • ภาวะกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน (Muscle Imbalance)
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic Migraine) จากการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบศีรษะ
  • หลังยึด (back dysfunction)
  • โรคกระเพาะอาหาร ปวดเสียดท้อง (Dyspepsia)

วิธีป้องกันลดความเสี่ยงในการเป็นออฟฟิศซินโดรม

ในความเป็นจริงภาวะออฟฟิศซินโดรม นอกจากจะเกิดจากการทำงานอยู่ในท่าทางซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน หรืออยู่ในท่าทางการทำงาน ที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็อาจจะเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน เช่น ความเครียดจากงาน ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอหรือแม้กระทั่งการทานอาหารไม่ตรงเวลา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม

วิธีป้องกันและดูแลตัวเองในเบื้องต้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นออฟฟิศซินโดรม ทำได้ดังนี้

ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม

การปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน มีส่วนสำคัญในการป้องกัน Office syndrome ได้เป็นอย่างดี บางครั้งการที่ต้องจดจ่ออยู่กับงานประจำ วันละหลาย ๆ ชั่วโมง ทำให้เราลืมปรับเปลี่ยนท่าทางให้อยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย หรือการจัดโต๊ะ เก้าอี้อุปกรณ์สำนักงาน ให้ทำงานได้ง่ายโดยไม่ต้องฝืนร่างกาย เช่น

  • บริเวณที่นั่งทำงาน หากมีแสงสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเท หรือที่นั่งตั้งอยู่ใกล้หน้าต่าง สามารถมองเห็นวิวภายนอกได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานได้ง่ายขึ้น ควรจะพักสายตาทุก 15-20 นาที และปรับเปลี่ยนท่าทางจากการทำงานทุก ๆ 1 ชั่วโมง ยืดเส้นคลายกล้ามเนื้อ เพื่อผ่อนคลาย และลดความเครียด

  • การปรับเก้าอี้ทำงาน การนั่งจะส่งแรงกดน้ำหนักตัวลงบนหมอนรองกระดูกสันหลังมากกว่าการยืน การนั่งในท่าที่ถูกต้องตามสรีระ
    จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นออฟฟิศซินโดรมได้มาก นอกจากจะต้องนั่งหลังตรง คอตรงแล้ว การปรับเก้าอี้เพื่อให้มีท่านั่งที่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เช่น
    • การปรับที่เท้าแขน การที่เท้าแขนเป็นแบบปรับระดับได้ ควรปรับให้ต่ำกว่าขอบโต๊ะพอประมาณ เวลาเท้าแขนให้อยู่ในลักษณะที่
      ไม่ต้องยกไหล่ จะได้ช่วยพยุงแขนขณะทำงาน
    • พนักพิงหลัง เก้าอี้ทำงานส่วนใหญ่ จะสามารถเอนไปด้านหลังได้ แต่ปัญหาสำคัญคือพนักเก้าอี้ควรจะรองรับหลังของเราได้เป็นอย่างดีด้วย หากรู้สึกว่ายังมีช่องว่างระหว่างหลังกับเก้าอี้ ควรหาเบาะหรือหมอนมารองหลังเพิ่ม จะช่วยลดการเกร็ง และทำให้นั่งหลังตรงได้มากขึ้น
    • ความสูงของเก้าอี้ ระดับความสูงของเก้าอี้ทำงานเป็นอีกเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลย การปรับความสูงของเก้าอี้ที่ดีจะทำให้เราไม่ต้องฝืนสรีระร่างกาย ช่วยให้มองจอคอมพิวเตอร์ได้ถนัด ไม่ต้องเงยหรือก้มหน้ามากเกินไป ความสูงของเก้าอี้ที่ดี ข้อศอก
      ขอบโต๊ะ และแขนต้องวางอยู่บนโต๊ะได้โดยไม่ต้องยกไหล่ โดยส่วนล่างคือ สะโพก หัวเข่า และข้อเท้าควรทำมุม 90 องศา
    • เท้าต้องวางติดพื้น การวางเท้าขณะนั่งทำงานให้เหมาะสม จะช่วยปรับสรีระการนั่งทำงานให้ดีขึ้น เพราะถึงแม้เราปรับเก้าอี้ให้พอดีแล้วก็ตาม แต่หากเท้ากลับลอยเหนือพื้นหรือแตะพื้นได้แค่ปลายเท้าก็อาจจะส่งผลต่อภาวะออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน
      ดังนั้นหากเท้าไม่ถึงพื้นควรหาเก้าอี้ตัวเล็ก ๆ มาวางเป็นที่พักเท้า เพื่อให้ท่าทางการนั่งถูกต้อง


  • โต๊ะทำงานต้องสูงพอดี โต๊ะทำงานที่ดีควรสูงจากพื้นประมาณ 65-70 เซนติเมตร โดยให้ความสูงของที่วางคีย์บอร์ดสูงเท่ากับความสูงของพนักวางแขนเก้าอี้ เวลาทำงานสามารถใช้ข้อศอกรับน้ำหนัก โดยวางข้อศอกอยู่บนพนักวางแขนแบบเป็นธรรมชาติได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องฝืนร่างกายยกศอกขึ้นเวลาทำงาน

  • ความสูงของจอคอมพิวเตอร์ เมื่อปรับโต๊ะเก้าอี้ได้ดีแล้วก็ต้องมาปรับความสูงของจอคอมพิวเตอร์ ให้สัมพันธ์กันด้วยเช่นกัน จอคอมพิวเตอร์ควรปรับให้อยู่ระดับเดียวกันกับสายตา ควรมีระยะห่างประมาณ 12-18 นิ้วเพื่อจะได้ไม่ต้องก้มหรือเงยหน้าขณะมองหน้าจอ และควรปรับความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้พอดี ไม่สว่างหรือมืด เพื่อจะได้ไม่ต้องเพ่งจนเกร็งและเป็นการถนอมสายตาไม่ให้ทำงานหนักเกินไป

โรคออฟฟิศซินโดรมอาจจะป้องกันดูแลรักษาในเบื้องต้นได้ตามเหตุผลที่กล่าวเอาไว้ หากอาการยังไม่รุนแรงก็สามารถรักษาด้วยการออกกำลังกาย หรือทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัด มีจุดประสงค์ที่จะทำการรักษาอาการที่เป็น หรือ ผู้ป่วย เพื่อให้กลับมาสมบูรณ์และเคลื่อนไหวได้อย่างปกติให้มากที่สุด การทำกายภาพบำบัดบางครั้งใช้เวลาค่อนข้างนาน ในการฟื้นฟู หากอยู่ในกรุงเทพ ทาง LUMA ขอแนะนำ Bangkok Physiotherapy Center ที่พร้อมที่จะทุ่มเท และ ยกระดับของการรักษาอาการด้วยกายภาพบำบัด สำหรับสมาชิกของ LUMA สามารถเลือกแผนประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองของการทำกายภาพบำบัด และ เข้าใช้บริการ ที่ Bangkok Physiotherapy Center โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน เพราะ คลินิกนี้อยู่ในเครื่อข่ายของ LUMA

หากรู้ตัวว่าเข้าข่ายเป็นออฟฟิศซินโดรม การไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอาการเป็นทางเลือกที่ดีเป็นสุดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะตามมา และการทำประกันสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หากวันหนึ่งวันใดเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา สำหรับใครที่กำลังมองหาประกันสุขภาพดี ๆ อยู่สักกรมธรรม์ LUMA และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์พร้อมที่จะให้แนะนำในการเลือกแผนประกันสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคุณและครอบครัวที่คุณรัก

Last update: 

Table of Contents

ใบอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เลขที่ 0105555036794

ใบอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัย เลขที่00008/2555  

ใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย เลขที่ ช00012/2564

BOI logo

ได้รับการรับรองจาก BOI 2927/2555

บริษัท ลูม่า แคร์ จำกัด, 57 ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ชั้น 9 ยูนิต 912 ถนนวิภาวดี แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10330

Copyright © 2024 lumahealth.com. All Rights Reserved.   นโยบายความเป็นส่วนตัว